สมอ. ทบทวนมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้า เตรียมประกาศใช้ 5 ม.ค. 68 แบบไหนบ้างต้องใช้เกณฑ์ใหม่ แบบไหนบ้างไม่คลอบคลุม "เอกนัฏ" สั่งทบทวนมาตรฐานที่ประกาศใช้ 5 ปีขึ้นไป มองเริ่มตกยุคไม่เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ย้ำเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภคสูงสุด
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งทบทวนมาตรฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่มีอายุมากกว่า 5 ปี เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้นำมาตรฐานไปใช้ยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และให้หน่วยงานที่มีภารกิจโดยตรง ได้นำมาตรฐานไปใช้ในการอ้างอิงในการปฏิบัติงาน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น
โดยมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ สมอ. แก้ไขเรียบร้อยแล้ว และกำลังจะมีผลใช้งานตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2568 เป็นต้นไป คือ มาตรฐาน “หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยนกระแสไฟเพื่อให้เหมาะสมกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า มีความสำคัญที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด เพราะหากหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดการขัดข้องหรือชำรุดเสียหาย จะส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟของประชาชน และกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ซึ่งการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเปิดโอกาสทางการค้าในตลาดต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทยมากยิ่งขึ้น
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมาตั้งแต่ปี 2524 และได้มีการทบทวนมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง โดยประกาศใช้ครั้งที่ 2 ปี 2543 และครั้งที่ 3 ปี 2567 ที่จะมีผลใช้งานในวันที่ 5 มกราคม 2568 นี้ การทบทวนมาตรฐานในครั้งนี้ เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน โดยการอ้างอิงตามมาตรฐาน IEC และแก้ไขขอบข่ายให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้มีคุณลักษณะตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้งานร่วมกับมาตรฐานด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้งานภายในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ฯลฯ
แต่ไม่ครอบคลุมหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ เช่น หม้อแปลงติดตั้งบนเครื่องฉุดลาก หม้อแปลงสำหรับงานเหมือง หรือหม้อแปลงไฟฟ้าสำหรับใช้งานในน้ำ เป็นต้น และมีการแก้ไขข้อกำหนดในสภาวการณ์ใช้งานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดจากอุณหภูมิแวดล้อม รวมทั้งแก้ไขมาตรฐานวิธีการทดสอบให้สอดคล้องกับวิธีทดสอบตามมาตรฐานสากลด้วย
สำหรับการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการนำมาตรฐานไปใช้ สมอ. ได้เชิญผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 200 ราย เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการ เข้าร่วมสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 21 พ.ย. 67 เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดของมาตรฐานหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังฉบับใหม่ มอก. 384 เล่ม 1-2567 และการตรวจติดตามภายหลังได้รับใบอนุญาต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น เลขาธิการ สมอ. กล่าว
Three phase high voltage power transformer on electrical pole for industrial use. concept power and energy
Power Transformer in High Voltage Electrical Outdoor Substation
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส