บิ๊กภาครัฐ-เอกชน ร่วมระดมสมองคึกคัก กลางเวทีเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก” ให้คำตอบ "Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ปลุกฝันโปรย 6 เสน่ห์ไทย ท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น อีเวนต์ ซีรีส์ และอาหาร โกอินเตอร์ กระหึ่มโลก
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 67 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ “เดลินิวส์” ได้จัดงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน พร้อม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถา ในหัวข้อ “ซอฟต์พาวเวอร์…พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย” โดยมี นางประพิณ รุจิรวงศ์ นายปารเมศ เหตระกูล นางสิริวรรณ พันธุ์ปรีชากิจ กรรมการบริหารและ น.ส.นลิน รุจิรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการตลาด ร่วมให้การต้อนรับ
ทั้งนี้ ในเวลา 10.30 น. ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” โดย น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และนายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ที่มาร่วมกันถ่ายทอด มุมมอง เพื่อสานฝันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางจนเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน
น.ส.ฐาปณีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์มีซีรีส์ในตัว และนายกฯ พูดชัดเจนว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเสน่ห์ไทย เสน่ห์ไทยจะกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย เพราะความมีเสน่ห์มันซึมลึก เหนือจินตนาการ ทำให้อยากค้นหา ดังนั้น ซึ่งแตกต่างจากเรื่องความสวยความงามที่สามารถตกแต่งกันได้ ททท. จึงได้วางยุทธศาสตร์ซึ่งไม่ใช่เป็นการโปรยเสน่ห์ แต่เป็นการทำเรื่องเสน่ห์ไทยให้กระจาย
“แต่เรื่องนี้เราทำคนเดียวไม่ได้ นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ พ่อค้านักลงทุน ต้องร่วมมือกัน ซึ่งในส่วนของการสร้างรายได้ ด้านการท่องเที่ยวและภาคบริการ ททท. วางเป้าหมายไว้เติบโต 30% ในปี 73 ซึ่งมีซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 อุตสาหกรรมเป็นส่วนช่วย สร้างจุดขาย กระจายไปทุกพื้นที่ 7,000 ชุมชม 700 อำเภอ ดังนั้นทุกคนจะต้องได้รับอานิสงส์จากซอฟต์พาวเวอร์ สิ่งที่ ททท. กำลังทำอยู่คือการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และการสร้างซอฟต์สกิล มาช่วยสร้างแรงดึงดูดและความแตกต่างในความเป็นไทยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง”
นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า เสน่ห์ประเทศไทยมีเยอะมาก โดยเฉพาะผู้หญิงไทย ซึ่งในด้านกีฬาก็เช่นเดียวกัน ผู้หญิงไทยมักจะนำผู้ชาย เช่น นักวอลเลย์บอล หรือนักมวยเหรียญโอลิมปิกต่างๆ เป็นผู้หญิงรวมถึงนักกีฬาคนพิการของไทยส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง เช่น นักกีฬาฟันดาบ ที่สร้างชื่อเสียงทั่วโลก เพราะเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ได้เหรียญทองฟันดาบ 3 ประเภท หรือแม้แต่การที่นักกีฬายกมือไหว้ก็ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สื่อถึงวัฒนธรรม
นอกจากนี้ กทท. อยากทำงานซีเกมส์เป็นเฟสติวัล ไม่ใช่แค่แข่งกีฬา แต่จะมีทั้งอาหาร ดนตรี ผลไม้ไทย ท่องเที่ยว ซึ่งได้หารือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแล้ว (ททท.) แล้วเพื่อใช้กีฬามาเป็นโอกาสในการท่องเที่ยวด้วย
“โจทย์สำคัญของ กกท. วันนี้คือจะทำอย่างไรเพื่อดึงเสน่ห์กีฬาไทย ดึงเสน่ห์มวยไทยออกมาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมออกมา สร้างงานสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากโมเดลจากมวยไทยก่อน และจะขยับไปยังกีฬาอื่นๆ ด้วย”
ด้าน น.ส.ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีครบทุกรสชาติเหมือนกับต้มยำกุ้ง ที่มีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม และเรามีวัฒนธรรมที่ยืนยาว และสามารถปรับตัวผสมผสานเก่ง ที่สำคัญเมืองไทยได้เป็นเมืองไม่หลับใหล ตลอด 24 ชั่วโมง และมีคอนเทนต์ที่ขายได้ทั้ง 365 วัน ดังนั้นการทำยุทธศาตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จะต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษี กฎหมายแรงงาน ด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ ที่จะต้องแก้ไข หากไม่ทำก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเลย
อย่างไรก็ตาม การจะทำซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จ ประเทศไทยจะต้องสนับสนุนนโยบายการสร้างฮับการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค เช่น ฮับการบิน โดยการขยายความจุของสนามบิน เช่น สุวรรณภูมิให้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี เพราะขณะนี้ประเทศที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนมีสนามบินที่ทันสมัย เช่น สิงคโปร์ ดูไบ หรือปักกิ่ง เมื่อนำมาผสมผสานกับการใช้คอนเทนต์ ซอฟต์พาวเวอร์ที่ดี จะชาวยดึงคนเหล่านั้นเข้ามาใช้สินค้า บริการในไทย
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดึงซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนจาก คุณค่าให้เป็นมูลค่า ซึ่งกระจายรายได้สู่ชุมชนรวดเร็วมากกว่าทำเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังมุ่งใช้ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชน มีการเรียนการสอนเป็นหลักสูตร โดยให้ผู้ที่มีประสบการณ์มาให้ข้อมูลวางแผนร่วมกันเพื่อให้เกิดการสื่อสารเข้าถึงทั้งคนไทยและทั่วโลก โดยคัดเลือกอีเวนต์สำคัญๆ ออกมาใน 12 เดือนซึ่งมีทั้งจากเมืองรองและมืองใหญ่
นอกจากนี้ จะวางแผนทำ เฟสติวัล ซิตี้ ที่หมุนเวียนกันไปทั้ง 5 ภาค ภายใต้โครงการเทศกาลอวดเมือง โดยที่แต่ละจังหวัดต้องรวมตัวกันนำเสนอของดีในแต่ละเมือง ซึ่งเป็นแผนงานอีโคซิสเท็มครบวงจรที่จะโยงไปที่ที่พักที่ดี สถานที่ท่องเที่ยวที่ดี อาหารที่ดีหรือมีสินค้าที่ดีนำมาประกวด เพื่อคัดเลือกให้เป็น เฟสติวัล ซิตี้
นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการ บริษัท บรอดคาซท์ไทย เทเลวิชั่น จำกัด กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ทุกฝ่ายผนึกร่วมมือกัน สร้างนโยบายนี้ขึ้นมา โดยซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ไม่ได้อยู่ที่วัฒนธรรม และชุดไทยอย่างเดียว อย่างเช่น กระแสของลิซ่า ที่หยิบจับอะไรก็ขายดีขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ยังเกิดขึ้นได้อีก ทั้งเรื่องอาหาร สามารถสื่อผ่านวัฒนธรรมที่สามารถสอดแทรกในสื่อ ละคร ภาพยนตร์ เช่น เรื่องหลานม่า ที่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ และภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องสามารถทำรายได้เป็นร้อยล้านในต่างประเทศ
หรืออย่างเช่น เกาหลี มาถ่ายภาพยนตร์ ที่วัดอรุณฯ ถ่ายทอดความงดงามของไทย ที่ได้รับการยอมรับ ทำให้ต่างชาติมีส่วนช่วยร่วมโปรโมตประเทศไทยให้ด้วย เราสามารถสร้างความประทับใจให้พวกเขาได้ นอกจากนี้ในเรื่องของอาหารไทยสามารถนำไปใส่ในละครได้ เช่น ต้มยำกุ้ง น้ำปลาหวาน เรื่องกีฬา เรื่องแม่ไม้มวยไทย เป็นต้น ซึ่งก็ได้นำไปใส่ในละครแล้ว ถ้าคนทำสื่อเข้าใจ และมีข้อมูลที่ลึกและถูกต้องสามารถนำมาทำเป็นคอนเทนต์ ทำให้มีคนแชร์ไปทั่วโลกได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือคอนเทนต์ ทำอย่างไรดึงดูดและน่าสนใจ อย่างเช่น ซีรีส์วาย ไทยก็เป็นอันดับ 1 ที่ได้รับการยอมรับ ขายได้ในหลายๆ ประเทศ สามารถต่อยอด จัดแฟนมีตได้
ด้าน นายชุมพล แจ้งไพร ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวว่า เสน่ห์ของอาหารไทยมีมานานมากกว่า 50 ปีแล้ว เราไม่ต้องทำอะไร แต่ต่างชาติรักอาหารไทยแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการมี 3 ประเด็น ทำอย่างไรให้ยั่งยืนและต่อยอดอย่างไร โดยอาหารไทยมีมูลค่าสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท เราจะทำอย่างไรให้มีผลดีลงไปถึงหมู่บ้านต่างๆ ด้วยอุตสาหกรรมอาหาร วัตถุดิบ อย่างเช่น ตะไคร้ ขายในไทยไม่กี่บาท แต่วางขายในลอนดอนราคากลับสูงถึง 12 ปอนด์ จึงต้องมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร จะทำอย่างให้คนไทยในระดับชุมชนได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย
วันนี้อุตฯอาหารเกี่ยวข้องกับหลายส่วน อย่างแรก ที่ต้องเร่งทำ คือ การทุ่มพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์ แม้ว่าปัจจุบัน เอไอ สามารถใช้ทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ก็ทำอาหารสู้คนไม่ได้ ซึ่งอุตฯอาหารในวันนี้ มีปัญหาเรื่องคนที่มีคุณภาพ ในยุทธศาสตร์ ได้ของบประมาณเพื่อให้เกิดโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย แล้วสามารถต่อยอดเป็นอินฟลูฯ ดาราที่มีชื่อเสียงได้ โดยปีแรกตั้งเป้าหมาย 1.8 หมื่นคน เป้าหมายใน 4 ปี จำนวน 87,000 คน ในทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้จับมือกับ สถาบันอาชีวศึกษา 100 แห่ง และมหาวิทยาลัย 100 แห่ง ในการพัฒนาคนเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร
“วันนี้เราห้ามไม่ได้ให้คนต่างชาติทำอาหารไทยได้ แต่คนไทยทำอาหารไทยได้ดีที่สุด แต่ถ้าคนไทยไม่มุ่งเน้นให้ความสำคัญ เชฟคนญี่ปุ่นจะแซงคนไทย บุคลากรในวงการอาหารจะเป็นตัวเชื่อมกับทุกอุตสาหกรรม”
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส