กระทรวงการต่างประเทศของไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนท่าที และแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ในพม่าเสียใหม่ พร้อมทั้งแสดงให้โลกรับรู้อย่างชัดเจน หลังจากรัฐบาลทหารพม่าส่งจดหมายลับมาแสดงการคัดค้านการจัดสัมมนาในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการรัฐประหารพม่า โดยคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐและกิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม ที่ผ่านมา
จดหมายตีตราลับ (ที่บังเอิญเผยแพร่ให้รู้กันทั่วไป) ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จากกรุงเนปิดอว์ถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุว่า การสัมมนาที่จัดขึ้นที่รัฐสภาของไทยจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างพม่าและไทย
“กระทรวงต่างประเทศพม่าขอแสดงความห่วงกังวลมายังรัฐสภาของไทย และขออย่าได้จัดกิจกรรมใดๆ อันจะเป็นการขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอนาคต”
จดหมายดังกล่าวบอกด้วยว่า อยากให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยพิจารณาให้หลักประกันว่าจะไม่ให้มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นมาอีก
จดหมายดังกล่าวส่งมากรุงเทพฯ ราวกับแสร้งทำเป็นไม่รู้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของไทยนั้นดำเนินการเป็นเอกเทศต่อกัน ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันอยู่ในที และไม่สามารถก้าวก่ายซึ่งกันและกันได้
คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อจะเปิดเวทีให้ได้ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงไทยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา นับแต่ มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี
ในเบื้องต้นได้เชิญ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มากล่าวปาฐกถานำ เพื่อจะได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายของรัฐบาล รวมตลอดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่ทำให้ชาวพม่าจำนวนมากต้องบาดเจ็บล้มตาย พลัดที่นาคาที่อยู่อีกเป็นล้านๆ คน รวมทั้งต้องอพยพหนีตายเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกมากมาย
แค่เพียงเท่านั้นคงไม่ใช่ปัญหาอะไรใหญ่โต แต่ที่เป็นประเด็นขึ้นมาและเป็นเหตุให้รัฐบาลทหารในกรุงเนปิดอว์ต้องแสดงความไม่พอใจออกมา ก็ด้วยว่ามีการเชิญ จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) ผู้แทนถาวรของพม่าประจำสหประชาชาติ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหารมาตั้งแต่ต้น มาแสดงปาฐกถาด้วย เพื่อให้ข้อมูลจากมุมมองเขา ตามด้วย ซิน มา อ่อง (Zin Mar Aung) รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาหรือรัฐบาลพลัดถิ่น ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านและมุ่งโค่นล้มรัฐบาลทหารพม่า ทั้งสองคนร่วมงานผ่านทางออนไลน์ ไม่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ แต่อย่างใด
รัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ ถอนตัวจากการสัมมนาในนาทีสุดท้าย โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ชัดเจน แต่คาดว่าคงไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลทหารพม่าในกรุงเนปิดอว์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งก็พากันถอนตัวไปด้วย ทั้งๆ ที่เพียงแค่เชิญให้ไปรับฟังข้อมูลและปัญหาจากหลายฝ่ายอย่างรอบด้านเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องแสดงท่าทีผูกพันใดๆต่อหน่วยงานของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ท่าทีเช่นนี้คือข้อบ่งชี้สำคัญว่า เอาเข้าจริงแล้วรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยไม่ได้มีนโยบายต่อพม่าแตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่างใดเลย เพราะยังให้ความเกรงอกเกรงใจต่อรัฐบาลทหารของ มิน อ่อง หล่าย อยู่ดังเดิม แม้ว่าจะได้ริเริ่มแนวนโยบายอันน่าสรรเสริญด้วยการสร้างระเบียงแห่งมนุษยธรรม (humanitarian corridor) เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือไปยังประชาชนพม่าที่กำลังประสบปัญหาอันเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองที่กองทัพพม่าเป็นคนก่อและสุมไฟอยู่ในขณะนี้
เป็นเรื่องที่คาดหมายกันโดยทั่วไป ว่าความริเริ่มระเบียงแห่งมนุษยธรรมนี้น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาทางส่งมอบความช่วยเหลือให้กับประชาชนชาวพม่าที่กำลังประสบชะตากรรม ก่อนที่จะได้เปิดการหารือในเรื่องอื่นๆ ต่อไป
แต่น่าเสียดายที่โครงการนี้เริ่มต้นโดยใช้รัฐบาลทหารพม่าเป็นศูนย์กลางการติดต่อประสานงาน รัฐมนตรีปานปรีย์ของไทย พบกับ ตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของสภาบริหารงานแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) ที่กรุงปักกิ่ง ระหว่างการประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) เมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และตกลงจัดตั้งกลไกร่วมกันในการส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ก่อนที่จะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่หลวงพระบางเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อกลุ่มอาเซียนรับรองและใช้กลไก คือ ศูนย์ประสานงานสำหรับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (The ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance on Disaster Management: AHA Center) เป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน
การดำเนินการตามแนวทางนี้ไม่มีปัญหาในสถานการณ์ปกติ เพราะรัฐบาลไทยและกลุ่มอาเซียนชอบที่จะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของรัฐบาลในประเทศสมาชิกอยู่แล้วตามช่องทางการทูตที่มีอยู่ แต่ในสถานการณ์ของความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองเช่นนี้ รัฐบาลไทยและอาเซียนสมควรมีศูนย์ประสานงานและการติดต่อหลายช่องทาง อย่างน้อยก็เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งของบรรเทาทุกข์จะเดินทางไปถึงมือผู้ที่ประสบภัยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายต่อต้านที่กองทัพพม่าเข้าไม่ถึง
ข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ บอกให้รู้ว่า องค์กรกาชาดพม่า ซึ่งไทยและอาเซียนอยากจะให้เป็นศูนย์ประสานงานส่งมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์นั้น เป็นกลไกความมั่นคงของรัฐ ทำหน้าที่เหมือนตำรวจลับในการสอดแนมประชาชนที่ต่อต้านรัฐ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เชื่อมั่นได้ว่าสิ่งของที่จะเอาเข้าไปช่วยเหลือจะไม่มีทางไปถึงประชาชนในเขตยึดครองของฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแน่นอน
และนั่นหมายถึงว่า โครงการระเบียงแห่งมนุษยธรรมของไทย กำลังจะถูกใช้เพื่อฟอกขาวให้กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อปูทางให้ผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มอาเซียนได้ดังเดิม แทนที่จะแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้ประสบชะตากรรมและต้องการความช่วยเหลือ
จะเป็นการดีกว่า ถ้าหากรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันประกาศเสียตั้งแต่ต้นอย่างเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องติดต่อประสานงานกับ ‘ผู้มีส่วนได้เสีย’ ทุกฝ่ายเสมอหน้ากันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลทหาร รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกำลังขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ เพื่อที่จะได้ทราบความต้องการและข้อเสนอแนะของทุกฝ่าย ก่อนที่จะวางแนวทางขั้นต่อไปเพื่อยุติความรุนแรงและเจรจาหาทางออกทางการเมืองที่สามารถยอมรับกันได้ทุกฝ่ายเพื่อสร้างสันติภาพถาวรกันในอนาคต
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส