"แบงก์ชาติ" ยืนยัน ลดดอกเบี้ย 0.25% ครั้งนี้ ไม่ใช่แรงกดดันทางการเมือง และยังไม่ใช่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ขอรอดูข้อมูลเพื่อพิจารณา
วันที่ 16 ต.ค. หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติไม่เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.50% เหลือ 2.25% โดยให้มีผลทันที หลังจากที่คงดอกเบี้ย 2.50% มาแล้ว 5 ครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงประเมินไว้ และเงินเฟ้อทั่วไปทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 67 รวมทั้งกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้มีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กรรมการ 5 รายให้ลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง โดยไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ท่ามกลางสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ
ขณะที่กรรมการ 2 รายให้คงอัตราดอกเบี้ย มองว่าดอกเบี้ยที่ระดับเดิมยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมถึงการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยปรับขึ้นเป็น 2.7% ในปี 67 จากเดิม 2.6% และในปี 68 ปรับลดเหลือ 2.9% จากเดิม 3% จากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งออกที่ปรับดีขึ้น ด้านเงินเฟ้อทั่วไปในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และในปี 68 อยู่ที่ 1.2%
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ กนง. กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระหนี้และช่วยให้ความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้ดีขึ้น และคาดหวังว่าจะสถาบันการเงินจะส่งผ่านการลดดอกเบี้ยนี้อย่างที่เคยเป็นมาประมาณครึ่งหนึ่ง และเชื่อว่าจะทำในไม่ช้า โดยยืนยันว่าการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ไม่ได้ลดต่อเนื่องเป็นการปรับลดเพื่อรอดูข้อมูล ซึ่งยืนยันว่าการปรับลดเป็นการปรับสมดุลดูแลเสถียรภาพการเงิน ไม่ได้เป็นแรงกดดันทางด้านการเมือง
ขณะที่ เรื่องหนี้ครัวเรือน ธปท.ให้ความสำคัญ ช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ มีการผลักดันต่อเนื่อง โดยการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยเอสเอ็มอี เพราะมีปัญหาด้านเครดิต ซึ่งการจัดตั้งค้ำประกันสินเชื่อเป็นสิ่งที่ต้องผลักดัน อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบล่างปลายปีนี้ จากปัจจัยเชิงโครงสร้างต้นทุนนำเข้าต่ำจากจีน โดยยืนยันไม่กังวลเงินฝืด เพราะสินค้าปรับสูงขึ้น
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส