นักเศรษฐศาสตร์คนดัง "ดร.พิพัฒน์ KKP" เล่าถึงการฟื้นกองทุนวายุภักษ์ ยังไม่แน่ชัดรัฐบาลระดมเงินมาทำอะไร ชี้โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ต้องนึกถึงความคุ้มค่าของการใช้เงิน
“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Pipat Luengnaruemitchai เล่าถึง “กองทุนวายุภักษ์” ที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงร่วมกับ สำนักงาน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะฟื้นกองทุนวายุภักษ์นี้ขึ้นมาใหม่
ดร.พิพัฒน์ เล่าว่า “กองทุนวายุภักษ์” หลายคนคงได้ยินการแถลงข่าวเรื่องมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน หนึ่งมาตรการในนั้นคือ การฟื้นกองทุนวายุภักษ์ รัฐบาลอาจจะยังพูดไม่ชัดว่าจะระดมเงินไปทำอะไร จะเอาไปหนุนตลาดหุ้น หรือเอาเงินไปใช้ต่อ
แต่กองทุนวายุภักษ์เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าที่น่าสนใจของตลาดทุนไทย ผมก็เกิดไม่ทันครับ แต่เคยได้ยินมาบ้าง เลยจะมาเล่าให้ฟังครับ
“กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง” เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยปี 2003 ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่หุ้นไทยทิ้งดิ่งจาก 1700 ลงไปเหลือ 200 กว่าๆ ช่วงนั้นรัฐต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ เช่น การใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการเพิ่มทุนธนาคารที่รัฐถือหุ้น รวมไปถึงการลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ
เลยมีการออกกองทุนระดมทุน และนัยว่าเป็นทางเลือกในการลงทุนให้นักลงทุนรายย่อย
โดยรัฐลงทุนเป็นหุ้น 3 หมื่นล้านบาท และระดมจากประชาชนทั่วไปอีก 7 หมื่นล้านบาทในรูปแบบของหน่วยลงทุน “ประเภท ก.” ที่มีนโยบายคุ้มครองเงินลงทุน โดยจะคืนเงินลงทุน ณ วันสิ้นสุดโครงการเท่ากับ มูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันที่สิ้นสุดอายุโครงการ หรือไม่ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้
และระหว่างทางยังมีผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สัญญาว่าจะไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำ (เท่ากับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น สมัยนั้นรับประกันไว้ที่ 3%) และไม่เกินเพดานขั้นสูง
ดูคร่าวๆก็เหมือนว่ากองทุนกู้เงินจากประชาชนมาลงทุนก่อน และใช้โครงสร้าง waterfall ของกองทุนเป็นตัวจัดการผลตอบแทนระหว่างทาง และใช้มูลค่าเงินลงทุนเป็นตัวหนุนหลังการคุ้มครองเงินลงทุน
ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นโครงสร้างการลงทุนที่ตอบโจทย์สมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนออกกองทุนดัชนีหุ้นไทยอยู่แถวๆ 500-600 แต่พอครบสิบปี ดัชนีตลาดหุ้นไทยไปอยู่แถวๆ 1500-1600 และระหว่างทางนักลงทุนได้ผลตอบแทนไปปีละ 3-7% ของเงินลงทุนเริ่มต้น เพราะกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้นต่อเนื่อง จนมีเงินมาจ่ายเงินปันผลได้ และกองทุนคืนเงินหน่วยลงทุน “ประเภท ก.” หมดตั้งแต่ปี 2013 แล้ว
ปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์ถูกปรับเป็นกองทุนเปิด ที่มีรัฐถือหุ้น 100% ลงทุนในหุ้นและพันธบัตรที่ไม่ได้ถูกจำกัดแค่รัฐวิสาหกิจ และขนาดของกองทุนโตมาถึงสามแสนกว่าล้าน (และไม่นานมานี้ก็มีบทบาทตอนไปซื้อหุ้นการบินไทยที่ทำให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ)
ด้วยโครงสร้างและมูลค่าสินทรัพย์ กองทุนวายุภักษ์เป็นโครงสร้างที่น่าสนใจในสามารถนำมาใช้ในการระดมทุน ที่พอจะจัดโครงสร้างที่ตอบโจทย์นักลงทุนในระยะยาวได้ และรัฐก็มีเงินไปลงทุนต่อได้
แต่ข้อควรระวังคือ สถานการณ์เราวันนี้อาจจะไม่เหมือนกับอดีต ปัจจุบันอัตราจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยเหลือแค่ประมาณ 3.4% (ไม่ใช่ 5-6% เหมือนสมัยนั้น) และโอกาสโตน้อยกว่ายุคนั้นมาก
ถ้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนไม่โตขึ้น ผลตอบแทนที่จะเอามาแบ่งกันก็มีน้อยลง และถ้าหุ้นไทยไม่ไปไหนเลยอีกสิบปี (แม้จะมีโอกาสน้อย แต่ก็ต้องนับเป็นความเสี่ยง) การรับประกันเงินต้น และผลตอบแทนก็เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อเงินลงทุนของรัฐได้
นอกจากนี้ การระดมทุนในรูปแบบความเสี่ยงคล้ายหุ้นกู้ อาจจะเป็นการดึงสภาพคล่องออกจากตลาดพันธบัตร เพราะมี risk appetite ที่ใกล้เคียงกัน
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี ยังไงนี่ก็เหมือนเงินกู้ที่หนุนหลังโดยสินทรัพย์ของรัฐ จะเอาไปใช้ทำอะไรคงต้องคิดถึงความคุ้มค่าของการใช้เงินกันอย่างถ้วนถี่ครับ
ที่มา : เฟซบุ๊ก Pipat Luengnaruemitchai ณ วันที่ 25 มิ.ย.67
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส