ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

มิชชั่นประชาธิปไตย Gen Z! ยืนยันสิทธิเลือกตั้งสภาเด็กฯ กทม. ถึง 15 ก.พ. ก่อนเลือกตั้งวันที่ 16 ก.พ. นี้

Apr 3, 2024 ศาสตร์

เป็นครั้งแรกสำหรับการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ที่มีการจัดการเลือกตั้งผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) พร้อมกัน 30 เขต โดยลงทะเบียนยืนยันสิทธิออนไลน์ เลือกตั้งออนไลน์ไม่ต้องเดินทาง และหลังปิดหีบจะรู้ผลทันที

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือเหล่า Gen Z หรือเด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี เป็นผู้มีทะเบียนบ้านอยู่ใน 30 เขตที่จัดการเลือกตั้ง และลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิผ่านเว็บไซต์ Youthvote67 ในวันที่ 1 - 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะเลือกตั้งในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เวลา 08.00 - 17.00 น.

โดยมี 30 เขตที่เปิดเลือกตั้ง ได้แก่ ดินแดง ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ ห้วยขวาง จตุจักร ดอนเมือง บางเขน บางซื่อ ลาดพร้าว คลองเตย บางคอแหลม บางนา พระโขนง วัฒนา คลองสามวา บางกะปิ บึงกุ่ม ประเวศ มีนบุรี ลาดกระบัง คลองสาน จอมทอง ตลิ่งชัน บางกอกน้อย บางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ หนองแขม บางแค

 

ทำไมต้องมีการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร 

สภาเด็กฯ กทม. จุดเริ่มต้นมาจาก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยกำหนดให้สภาเด็กฯ กทม. ประกอบด้วย

1. ประธานสภาเด็กและเยาวชนเขต จากทุกเขตใน กทม.  

2. ผู้แทนจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ กทม. ระดับมัธยมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ระดับละ 11 คน

3. ผู้แทนเยาวชนซึ่งมาจากการคัดเลือกกันเองจากเด็กและเยาวชนที่ได้ลงทะเบียนไว้ตามระเบียบที่ผู้ว่าฯ กทม. กำหนดจำนวน 12 คน 

 

“สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครที่จะต้องมีการคัดเลือกสมาชิกใหม่ สืบเนื่องมาจากปีที่แล้วที่ประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครได้เข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยมีข้อเสนอและหารือในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการเลือกตั้งสภาเด็กฯ ในระดับเขตนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และในหลายเขต เลือกตั้งไม่พร้อมกัน ทำให้การเข้าสู่การมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ฯ อาจยังไม่ทั่วถึง จึงเป็นที่มาว่าควรมีจัดการเลือกตั้งอย่างจริงจังและอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน” 

คือคำพูดของ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567

ศานนท์ อธิบายว่า เนื่องด้วยสภาเด็กฯ มีเป้าหมายในการปฏิรูปสภาเด็กฯ ให้เป็นช่องทางการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน กทม. ในการตอบสนองต่อนโยบายต่างๆ ให้ได้ยินแล้วถูกรับฟัง เสียงดัง และมีความหมาย 

ในช่วงที่ผ่านมา สภาเด็กฯ จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอจากหลายที่มาและวิธีการ ทั้งจากประสบการณ์โดยตรง สำรวจจากเด็กและเยาวชน แลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่าย สอบถามข้อมูลจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม New Gen Club ข้อเสนอจากสมัชชาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการศึกษางานวิจัยจากศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว (คิด for คิดส์) และได้ยื่นข้อเสนอการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร 3 ด้าน คือ การคัดเลือก การใช้งบประมาณ และอำนาจในกระบวนการนโยบาย เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานตามข้อเสนอเพื่อสนับสนุนการทำงานของสภาเด็กฯ อย่างต่อเนื่อง

 

บทบาทของสภาเด็กฯ กทม. คืออะไรบ้าง

ผู้ดำรงตำแหน่งในสภาเด็กฯ จะมีวาระการทำงาน 2 ปี โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวแทนเด็กและเยาวชนในการสะท้อนปัญหา นโยบาย และผลประโยชน์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่หลักๆ คือ

1. รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะ หรือประเมินเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

2. เป็นกระบอกเสียงในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย รวมถึงหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

3. จัดกิจกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนภายในเขต จากงบประมาณและทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรร โดยมีงบประมาณโดยประมาณ 30,000 - 100,000 บาท ต่อ 1 เขต

โดยถือเป็นโอกาสสำคัญที่เด็กและเยาวชนจะได้พัฒนาทักษะและประสบการณ์ ทั้งการเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สร้างเครือข่ายกับเพื่อนต่างโรงเรียน และยังเก็บเป็นประสบการณ์ได้อีกด้วย

 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส