ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมของมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยจึงร่วมกันตั้งเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งและรับมือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลไทยประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608
ในการจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาคการเงินทั้งสถาบันการเงินและตลาดทุน ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ไม่อาจมุ่งเน้นเพียงแค่การเติบโตทางธุรกิจและผลกำไรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental,Social,and Governance : ESG) ซึ่งการที่กลุ่มผู้ลงทุนจะมีข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน และติดตามการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจ ขณะที่สถาบันการเงินสามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบจัดการข้อมูลด้าน ESG ที่มีประสิทธิภาพ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) เปิดเผยว่า ภาคการเงินการธนาคารมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างสมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน ธนาคารทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Banks) มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวและเติบโตได้มากถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า Climate Finance ของโลก EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovations) ที่สนับสนุนโครงการหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเพิ่มสินเชื่อธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยให้มีสัดส่วน 50% ของพอร์ตสินเชื่อรวมภายในปี 2570 และระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
“ภาคเอกชนในปัจจุบันตื่นตัวในการนำข้อมูล ESG มาเป็นส่วนสำคัญในการวางแผนจัดการก๊าซเรือนกระจกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูล ESG ยังคงอยู่ในรูปแบบสมัครใจ นอกจากนี้ การรายงานข้อมูลบางประเภทยังมีความซับซ้อน ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลมีความท้าทายมากกว่า โดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีทรัพยากรค่อนข้างน้อย หากมีระบบจัดการข้อมูลด้าน ESG ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วยก็จะเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเครื่องมือทางการเงินมากยิ่งขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินของประเทศไทย” ดร.รักษ์ กล่าว
จากการเล็งเห็นถึงความต้องการข้อมูลด้าน ESG ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มผู้ลงทุน และสถาบันการเงินที่นำข้อมูล ESG ไปใช้ประกอบการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มรองรับข้อมูล ESG ซึ่งปัจจุบันมีระบบจัดการข้อมูล เช่น ระบบ SET ESG Data Platform ที่ให้บริการข้อมูลตั้งแต่ปี 2566 โดยรวบรวมข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 700 บริษัท อีกทั้งยังพัฒนาระบบ SET Carbon ที่อยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบ และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2568 ซึ่งจะช่วยให้ บจ. และบริษัทในห่วงโซ่อุปทานสามารถจัดทำและทวนสอบข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพบนระบบงานเดียว
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนและนำข้อมูลไปใช้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ข้อมูล ESG เพื่อการระดมทุนและการลงทุน โดยล่าสุดได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ EXIM BANK ภายใต้โครงการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศสำหรับการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมถึงข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบจ. ผ่านระบบ ESG Data Platform และสนับสนุนระบบ SET Carbon สำหรับลูกค้าของธนาคารให้มีการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และ EXIM BANK จะร่วมกันพัฒนาสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลด้าน ESG ประกอบการพิจารณาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้จดทะเบียนหุ้นยั่งยืนตั้งแต่ปี 2558 ในช่วงแรกมีหุ้นที่ขอจดทะเบียนหุ้นยั่งยืนเพียง 51 บริษัท แต่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 168 บริษัท โดยแบ่งเป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ SET จำนวน 155 บริษัท และในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (MAI) 13 บริษัท กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ (33 บริษัท) กลุ่มทรัพยากร (28 บริษัท) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (27 บริษัท) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 73% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ MAI (มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ 10 เมษายน 2566)
ดร.รักษ์ กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนหุ้นยั่งยืนสะท้อนว่า ภาคเอกชนมุ่งมั่นจะพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจด้วยโมเดล ESG อย่างครบถ้วนทุกมิติ EXIM BANK จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลมาตรฐานสากลสำหรับใช้เป็น Input ในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเงินการธนาคาร จะช่วยให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์และสิทธิประโยชน์ทางการเงินต่าง ๆ ตลอดจนการเข้าร่วมอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของการส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) สามารถวางแผนจัดการก๊าซเรือนกระจกได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ พร้อมปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“EXIM BANK นับเป็นธนาคารแรก ๆ ที่มี Solution ทางการเงินช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก 3 Scope สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น ใช้พลังงานหมุนเวียน และช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม EXIM BANK มีสินเชื่อสนับสนุน Green Export Supply Chain อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้” ดร.รักษ์ กล่าว
ด้วยความมุ่งมั่นจะเป็นมากกว่าธนาคาร EXIM BANK ยังได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขึ้นทะเบียนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร 0 2169 9999
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส