"พีระพันธุ์" รมว.พลังงาน เตรียมเรียกประชุมศึกษาแผนการผลิตไฟฟ้าตาม PDP ฉบับใหม่ ชี้สัดส่วนกำลังการผลิตของ กฟผ. ที่เหลือ 17% ต้องไปทบทวนรูปแบบให้เป็นไปตามแผนอย่างเหมาะสม มั่นใจยังเป็นหน่วยงานสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ
วันที่ 1 ก.ค. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าเตรียมเรียกประชุมเพื่อทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงสร้างไฟฟ้าตามภาพรวมของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024)
ขณะที่การปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ 29% จะเหลือ 17% หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนฯ ปี 2580 นั้นจะต้องไปทบทวนและดูรูปแบบให้เป็นไปตามแผนอย่างเหมาะสม ซึ่งต้องดูถึงความสามารถในการลงทุนของ กฟผ. ด้วย แต่ยังมั่นใจว่า กฟผ.จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าของประเทศได้อยู่
“แผน PDP ฉบับใหม่ ส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องผลิตจากอะไรแต่ขอให้เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแกร่งจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งก็จะเร่งการส่งเสริมในด้านนั้น และต้องยอมรับว่าจากพลังงานน้ำ ยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะผลักดันให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณน้ำที่ยังไม่เพียงพอ”
ขณะที่การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการผลิตไฟฟ้า เขื่อนลำตะคองชลภาวัฒนานั้นเพื่อติดตามการทำงาน รวมถึงรับทราบถึงศักยภาพการผลิตและปัญหาต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซึ่งพบว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ สามารถเสริมศักยภาพการจ่ายไฟให้กับประชาชนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง (peak) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกำลังการผลิตถึง 1,000 เมกะวัตต์ และยังเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินพลังน้ำแบบสูบกลับแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ทำงานโดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองของกรมชลประทาน ไปเก็บไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง ซึ่งมีความจุ 9.9 ล้านลูกบาศก์ ในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยหรือช่วงกลางคืนถึงเช้า และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงกลางวันถึงค่ำ จะปล่อยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า และปล่อยลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเหมือนเดิม
“อย่างที่ทราบกันดีว่าเรากำลังผลักดันในเรื่องพลังงานสะอาด ด้วยการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากน้ำ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนก็ไม่สูญเปล่า สอดคล้องกับพัฒนาและนำศักยภาพจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง และยังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย”
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส