ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

เร่งออกมาตรการสั้น-ยาวอุ้มผู้ประกอบการโรงงาน แจงยังเปิดมากกว่าปิด

Jun 27, 2024 ศาสตร์ IDOPRESS

"พิมพ์ภัทรา" สั่งเร่งออกมาตรการอุ้มโรงงาน หวั่นยิ่งช้าเจ๊งเพิ่มยิ่งบานปลาย ทั้งมาตรการสั้น-ยาว อัดสภาพคล่อง ช้อปลดหย่อนภาษี แจงตัวเลขโรงงานเปิดมากกว่าปิด มูลค่าลงทุนสูงกว่า 10 เท่า

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วิเคราะห์ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถึงภาพรวมการเปิด-ปิดโรงงานปี 67 ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 67 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน และมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน จำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดถึง 74% และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042 ล้านบาท ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท มีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า และในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน มีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกจำนวน 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748  ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน

ทั้งนี้ สศอ.พบว่า หากพิจารณากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดทั้งการเลิกกิจการและตั้งโรงงานใหม่ พบว่า มีเงินลงทุนในการเลิกกิจการ 2,297 ล้านบาท แต่มีการเปิดกิจการใหม่ด้วยเงินลงทุน 12,378 ล้านบาท มากกว่าเลิกกิจการถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี  จึงสั่งการให้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือผู้กระจายสินค้า

โดยแบ่งออกเป็น มาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ประกอบด้วย

1.เข้มงวดเรื่องการตรวจสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นตรวจสอบสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

2.พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรม การจัดการตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่


3. กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ เช่น ผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในการลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ


4. สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อ SMEs โดย SME D Bank


สำหรับมาตรการระยะยาว เป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่


1.ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Electronics,Next-Generation Automotive,Future Food


2.สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก เช่น Circular for The Future,Innovative Construction


3.พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การใช้ประโยชน์จากกรอบเจรจาต่าง ๆ การหา/ขยายตลาดใหม่

4.Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน


5.ส่งเสริมการลงทุน โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง


ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส