ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

สื่อมวลชน ≠ อาชญากร

Apr 3, 2024 ศาสตร์

จากการจับกุมตัวผู้สื่อข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระที่ร่วมทำข่าวในการพ่นสีกำแพงวัง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีการตั้งคำถามเกิดขึ้นถึงการทำหน้าที่และบทบาทของสื่อมวลชน

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าได้รับแจ้งว่า ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกจับกุมที่บ้านพัก ข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน กับ พ.ร.บ.ความสะอาด ที่บ้านพัก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โดยตำรวจจาก สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง (สน.พระราชวัง) เข้าแสดงหมายจับพร้อมควบคุมตัว ต่อมา ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระถูกจับอีก 1 ราย บริเวณวัดสุทธิวราราม ถูกนำตัวไป สน.พระราชวัง เช่นกัน 

นักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ให้การสอบปากคำกับตำรวจเสร็จสิ้นแล้ว เบื้องต้นทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 

ทั้งนี้ ตำรวจแจ้งว่าจะมีการพาตัวนักข่าวประชาไทผู้ถูกจับกุมไปคุมขังที่ สน.ฉลองกรุง ส่วนนักข่าวอิสระอีกคนที่ถูกจับกุม จะถูกนำไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เป็นเวลา 1 คืน ก่อนที่พรุ่งนี้จะนำตัวทั้งสองคนไปฝากขังต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก

ต่อมาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีการพ่นสีสเปรย์ที่กำแพงพระราชวัง อยู่ในขั้นสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งเวลาผ่านมา 1 ปี ตำรวจใช้หมายจับนี้ในการจับนักข่าวและช่างภาพโดยกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนพ่นสีสเปรย์ที่กำแพงพระราชวังทำให้เสียหาย และทำลายโบราณสถาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และที่ตำรวจออกหมายจับเนื่องจากฐานความผิดในข้อกล่าวหาเกินกว่า 3 ปี แม้ทั้งสองคนไม่ได้มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนี 

คุ้มเกล้า เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ทางทนายความได้ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ซึ่งมองว่าจากข้อหาความผิดในคดีและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยการออกหมายจับไม่ใช่ออกเพราะจะหลบหนี แต่เป็นการออกหมายจับเพราะฐานความผิดโทษเกิน 3 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ แต่กลับไม่ให้ประกันและนำตัวมายื่นฝากขัง ผู้ต้องหาประสงค์ให้ยื่นคัดค้านการฝากขัง เพราะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินคดีฝากขังจากการทำหน้าที่นักข่าวในครั้งนี้ แต่ทางทนายก็จะถามความยินยอมว่าจะขอให้ทนายคัดค้านการฝากขังหรือยื่นประกันตัวเลย 

เวลา 14.46 น. ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท  และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ต่อมา 15.50 น. ศาลอาญา ให้ประกันตัวทั้งสองคน โดยวางเงินคนละ 35,000 บาท และไม่มีเงื่อนไขอื่น 

เวลาต่อมาหลังนักข่าวและช่างภาพอิสระได้รับการประกันตัว นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ ทะลุวัง และ ตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่มาร่วมให้กำลังใจ ถูกตำรวจเข้าจับกุมตัว โดย นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ ตำรวจแสดงหมายจับ คดีพ่นสีบนกำแพงฯ แจ้งข้อกล่าวหา สนับสนุนการกระทำดังกล่าว ส่วน ตะวัน ตำรวจแสดงหมายจับในข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าขวางขบวนเสด็จ 

รายงานข่าวพ่นสีกำแพงวังนำไปสู่การจับกุมตัว 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ศุทธวีร์ สร้อยคำ ศิลปินอิสระ ถูกกล่าวหาว่า พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความ 112 พร้อมขีดทับ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ ‘อนาคิสต์’ ใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยตำรวจผู้จับกุมได้เข้าควบคุมตัวและใส่กุญแจมือ ก่อนถูกควบคุมตัวไป สน.พระราชวัง 

โดยถูกแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 ระวางโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท และขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ทั้งนี้ ในวันถัดมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก เนื่องจากศาลเห็นว่าผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำในลักษณะเดียวกันมาก่อน บังเอิญจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

 

องค์กรสื่อออกแถลงการณ์ประนามการกระทำของตำรวจ 

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ออกแถลงการณ์ ‘การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม’ กรณีผู้สื่อข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมจากเหตุไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีกำแพงวัง เมื่อมีนาคมปี 2566

จากเหตุการณ์ ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวของประชาไท และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจชุดนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และนำตัวไปควบคุมไว้โดยไม่ให้สิทธิประกันตัว คาดว่ามาจากกรณีทั้งคู่ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์ เมื่อ 28 มีนาคม 2566 กรณีที่ศิลปินอายุ 25 ปี ได้พ่นสีข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์ ‘อนาคิสต์’ บนกำแพงวัดพระแก้ว ด้านตรงข้ามสนามหลวง

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้สื่อข่าวไม่ใช่อาชญากร การรายงานข่าวถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบธรรมของสื่อมวลชน ซึ่งกิจกรรมการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ สื่อย่อมสามารถถ่ายทอดเป็นภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อเขียนได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย จึงขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในลักษณะยัดเยียดความผิดแบบเหวี่ยงแห ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระออกมาอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด

 

ขณะที่สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยออกมาแสดงท่าทีอย่างรวดเร็ว อีกด้านหนึ่ง มีเสียงเรียกร้องไปยังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพ ให้ออกมาแสดงจุดยืนต่อการกระทำที่อาจเข้าข่ายละเมิดการทำหน้าที่ของสื่อ จนช่วงเที่ยงของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท และ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับเข้าจับกุม ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ จากการไปทำข่าวของนักกิจกรรม เมื่อมีนาคมปี 2566

“สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับทราบสถานการณ์ รับฟังความคิดเห็น และเข้าใจถึงข้อกังวลของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และได้ติดตามสถานการณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เพื่อมีท่าทีในเรื่องดังกล่าวต่อไป”

ต่อมาช่วง 15.00 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์กังวลสิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น กรณีนักข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาฯ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ขอแสดงความกังวลถึงการตั้งข้อกล่าวหาว่า ‘ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา’ จะเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งในเหตุการณ์ที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้  จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีความชัดเจนกับสังคม และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่

นอกจากนี้ ในโอกาสของการพิสูจน์ในข้อกล่าวหาดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีท่าทีหลบหนีการต่อสู้คดีในชั้นศาล  เพื่อความเป็นธรรม สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาสมควรจะได้รับสิทธิ์ และขอความกรุณาในชั้นศาล ในการพิจารณารับการประกันตัวชั่วคราว  เพื่อออกมาสู้คดีแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ตามหลักของกระบวนการยุติธรรม  และเพื่อพิสูจน์ว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม หรือเป็นพฤติการณ์อื่นๆต่อไป

หากสื่อมวลชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจภายใต้กรอบกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีช่องทางในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือในการจักหาทนายความต่อสู้คดีตามกรอบความร่วมมือข้อตกลงร่วมกัน กับสภาทนายความ สามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ

สุดท้ายขอเรียกร้องให้บรรณาธิการและต้นสังกัด กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฏหมาย ยึดหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนักข่าวรายงานข่าวและถูกจับ หรือได้รับลูกหลงจากการอยู่ภายในสนามข่าวที่มีความขัดแย้ง ได้มีการพบเห็นอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน  คงต้องรอดูว่าสรุปแล้วการทำหน้าที่นักข่าวในสนามข่าวที่มีประเด็นอ่อนไหวแบบนี้ ถือว่าเป็นการสนับสนุนหรือไม่ 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส