ครม. ไฟเขียวแก้หนี้ 3 กลุ่ม ที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 ม.ค. 68 ผ่อนชำระหนี้สูงสุดนาน 3 ปี
เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 11 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. ได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดี มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนขึ้น โดยในวันที่ 12 ธ.ค. 2567 ในการแถลงนโยบายรัฐบาล 90 วันจะมีเรื่องดังกล่าวด้วย
“ส่วนเรื่องการลดภาระการชำระหนี้และดอกเบี้ยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นการตัดเงินต้นและยกเว้นดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ได้ทำตามเงื่อนไข เพื่อให้ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงสถานประกอบการของตัวเองไว้ได้ การให้โอกาสลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท สามารถปิดหนี้ได้” น.ส.แพทองธาร กล่าว
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ทำสัญญาสินเชื่อก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2567 จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ สินเชื่อบ้าน/สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ไม่เกิน 5 ล้านบาท,สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 5 แสนบาท,สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท,สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท,สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 20,สินเชื่อรายย่อยเพื่อกำรประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ทั้งนี้ในส่วนของรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวด เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ผ่อนชำระค่างวด 50%,70% และ 90% ตามลำดับของค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมด เพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการ
2.มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็นหนีเสียหรือเอ็นพีแอลที่มียอดหนี้ ไม่สูง เช่น ลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นเอ็นพีแอลและมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท (ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา) สำหรับมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนโดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระ 10% ภาครัฐรับภาระ 45% และสถาบันการเงินรับภาระ 45% ของภาระหนี้คงค้าง ทั้งนี้ แหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจากเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือเอฟไอดีเอฟของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 39,000 ล้านบาท,เงินงบฯ ตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท,มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของนอนแบงก์โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของนอนแบงก์เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเปราะบางและมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง
3.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือเอสเอฟไอ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอยซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และครอบคลุมลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักษาวินัยทางการเงินของลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแหล่งเงินให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธ.อ.ส. ธนาคารอิสลาม โดยใช้จ่ายจากเงินที่ได้จากการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเอสเอฟไอเอฟจาก 0.25% ต่อปี เป็น 0.125% ต่อปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 68 ทั้งนี้จากการปรับลดเงินนำส่งกองทุนฯ คาดว่าเงินนำส่งจะลดลง 8,092 ล้านบาท
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส