เงินเฟ้อคืออะไร มีผลอย่างไรต่อประชาชน จับตา 'พิชัย-เศรษฐพุฒิ' กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ จากปัจจุบัน 1-3% หลังจากเงินเฟ้อปี 2567 กำหนดไว้ 5 ข้อตกลงหลัก
กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันปี 2567 อยู่ที่ 1-3% ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แม้ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ส่งสัญญาณอยากปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาตลอด ทำให้ต้องลุ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (29 ต.ค.) ที่จะมีการหารือกัน และมีข้อสรุปออกมาอย่างไรว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปี 2568 จะเป็นเท่าไร?
เงินเฟ้อ คืออะไร?
อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขสะท้อนราคาสินค้าและบริการในประเทศว่าแพงขึ้นแค่ไหน ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อสูงเกินไปจะทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มมากขึ้น หรือหากอัตราเงินเฟ้อผันผวนมากเกินไปจะทำให้ภาคธุรกิจวางแผนธุรกิจและตั้งราคาสินค้าได้ยาก
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาหรือดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวนเกินไป เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยจะกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ชัดเจน เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอนาคตได้ง่ายขึ้น และสามารถวางแผนการบริโภค การออม และการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2567 ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตกลงร่วมกัน ดังนี้
1.ปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มในระยะข้างหน้า เช่น ราคาพลังงาน และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ เป็นต้น
2.ข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2567 ไว้ที่ 1-3%
3.ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
4.ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชนโดยจะชี้แจงถึง (1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว (2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมายกนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร
5.ข้อตกลงในการแก้ไขเป้าหมายนโยบายการเงินหากมีเหตุจำเป็น
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส