สรรพากร แจงแล้ว ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ขอคืนภาษีเงินได้ภายใน 3 ปี พร้อมย้ำใช้สิทธิได้สูงสุด 6 แสน เฉพาะที่ถูกเลิกจ้าง ไม่นับรวมเกษียณ หรือสิ้นสุดสัญญา
หลังจาก ครม. มีมติให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง โดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1 ม.ค. 66 นั้น
แต่หลายคนมีความสงสัย ในส่วนของลูกจ้างที่ได้เงินจากการเลิกจ้างและยื่นชำระภาษีเงินได้ไปแล้ว จะได้คืนหรือไม่ หรือต้องทำอย่างไร
ล่าสุดกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาเฉลยแล้ว โดยระบุว่า กรมสรรพากรเปิดให้สามารถยื่นปรับปรุงการแสดงภาษีเพื่อขอคืนเงินภาษีได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายที่กำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว
“เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว กรมได้เปิดให้ยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปี โดยการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น”
ส่วนรายละเอียดการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากการถูกเลิกจ้างนั้น ได้กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับ เพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง และนับเฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท โดยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้มีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 เป็นต้นไป
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส