“พีระพันธุ์” เอาจริงคุมราคาน้ำมัน จ่อใช้ กกพ.โมเดล เสนอกฎหมาย SPR เข้า ครม. ต้นปี 68 ชี้ปีหน้าแวดวงพลังงานกระเพื่อมเห็นชัดแน่ หลายกฎหมายพลังงานจ่อเข้าครม. เปิดรายละเอียดทำไมต้องคุม คุมแล้วเป็นอย่างไร ใครได้ประโยชน์?
หากเทียบฟอร์มผลงานแต่ละกระทรวงอย่างไม่เป็นทางการแล้ว กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งในหลายกระทรวงที่มีผลงานโดดเด่น แม้จะยังไม่ได้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่นโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ภายใต้การนำของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน มีความเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ ต่อเนื่อง
เร็ว ๆ นี้ นายพีระพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ตอกย้ำถึง นโยบาย รื้อ ลด ปลด สร้าง ว่า เรื่องหลัก ๆ ของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับค่าพลังงานทั้ง ไฟ ก๊าซ และน้ำมัน ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มีปัจจัยบางอย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่เราจะปล่อยไปอย่างนี้ไม่ได้ ต้องคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร ในส่วนของก๊าซนั้น ได้แก้ไขการกำหนดราคาก๊าซใน Gas Pool ไปเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สามารถควบคุมค่าไฟฟ้าได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องดำเนินการเรื่องอื่นต่อไป
เรื่องน้ำมันปัญหาหลักมีสองส่วน
ส่วนแรก คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ที่ขึ้นลงตามตลาดโลกอยู่นอกเหนือการควบคุมเช่นเดียวกับราคาก๊าซที่นำมาผลิตไฟฟ้า
ส่วนที่สอง คือ การจัดเก็บภาษี
ส่วนแรกอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงาน ที่กำลังคิดหาทางแก้ไข ส่วนที่สองอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงพลังงานพยายามขอความร่วมมือตลอดมา ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะเป้าหมายต่างกัน กระทรวงพลังงานต้องการลดราคาพลังงานให้ประชาชน ส่วนกระทรวงการคลังต้องการเงินจากประชาชน จึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
ในเรื่องน้ำมันนั้น แม้ปัจจัยด้านราคาเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับตลาดโลก แต่ตนเองมีแนวทางที่จะใช้เป็นต้นแบบจากแนวทางของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤติน้ำมันโลกครั้งแรกเมื่อประมาณกลางยุค ค.ศ. 1970 หรือประมาณ พ.ศ. 2515-2516 ได้วางระบบให้ใช้การสำรองน้ำมันมาแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันและในกรณีที่ราคาน้ำมันสูงเกินไป ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน หรือ Demand – Supply เมื่อขาดแคลนก็ต้องมีของมีสินค้าสำรองไว้ ในขณะที่ไทยที่นำระบบใช้เงินมาแก้ไขปัญหาผ่านระบบที่เรียกว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” และมีมติ ครม. เลิกกำหนดราคาน้ำมันในประเทศ โดยให้ปรับขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก ซึ่งไม่ใช่การปล่อยให้กำหนดราคาน้ำมันโดยเสรีอย่างที่บางคนเข้าใจ
“ต้องเข้าใจด้วยว่า ไทยไม่ได้ปล่อยเสรีการกำหนดราคาน้ำมัน เพราะก่อนหน้านี้รัฐเป็นผู้กำหนดราคาไว้ไม่ให้ขึ้นลงทุกวัน แต่หลังเกิดช่วงวิกฤติพลังงานโลก ปี 2515-2516 รัฐไม่ได้เตรียมตัว ไม่มีเงินทุนสำรองเตรียมรับมือกรณีนี้ และไม่มีคลังน้ำมันสำรอง จึงมีมติคณะรัฐมนตรีปล่อยราคาน้ำมันในประเทศให้ขึ้นลงตามตลาดโลก แต่ไม่ใช่ให้กำหนดราคาเสรี ซึ่งหากมีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเมื่อไหร่ ระบบบริหารจัดการก็จะกลับมาอยู่ที่รัฐเหมือนเดิม” นายพีระพันธุ์ กล่าว
การใช้เงินบริหารจัดการแบบกองทุนน้ำมันฯ ของไทย ตามหลักการแล้วควรนำมาใช้เพียงระยะสั้น ๆ แต่ไทยกลับใช้ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 50 ปี ซึ่งตนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเงินด้อยค่าลงทุกวัน ทำให้ต้องเก็บเงินจากการซื้อขายน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นตามไปด้วย สรุปคือ สุดท้ายประชาชนเดือดร้อนทั้งขึ้นทั้งล่อง การใช้เงินมารักษาระดับราคาน้ำมันจึงสวนทางกับภารกิจของกระทรวงพลังงาน “เงินในจำนวนเดียวกันทุกวันนี้ค่าของเงินจะน้อยลงเมื่อเทียบกับแต่ก่อนแต่ค่าน้ำมันมีแต่ราคาสูงขึ้น สวนทางกับค่าเงิน ทำให้กองทุนน้ำมันฯ กลายเป็นหนี้สินไม่ใช่ทรัพย์สิน” นายพีระพันธุ์ พยายามชี้ให้เห็นข้อด้อยของการเก็บเงินเข้าออกกองทุนน้ำมันฯ อย่างทุกวันนี้
เมื่อศึกษาลงไปพบว่า ในกรณีค่าไฟฟ้าจะมีการปรับทุก 4 เดือน ไม่ปรับเป็นรายวันเหมือนราคาน้ำมัน ทั้งๆ ที่ไฟฟ้าก็ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและมีการปรับราคาขึ้นลงตามตลาดโลกเหมือนน้ำมัน แต่กลับไม่ต้องปรับราคาค่าไฟฟ้าเป็นรายวัน โดยนำราคาในตลาดโลกมาหาค่าเฉลี่ยทุก 4 เดือน แล้วปรับค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน ตามค่าเฉลี่ยได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีกฎหมายกำกับกิจการไฟฟ้ามาเป็นตัวควบคุม ทำให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจกำกับดูแล คือ กกพ. ในขณะที่การจำหน่ายน้ำมันกลับไม่เคยมีกฎหมายเช่นนี้ ปล่อยให้การขึ้นลงราคาน้ำมันเป็นอำนาจของผู้ค้าน้ำมันและทำได้ทุกวันตามอำเภอใจตลอดมา จึงเห็นว่า การค้าขายน้ำมันก็ควรมีกฎหมายที่เป็นกฎกติกาที่สามารถกำกับดูแลและตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับประชาชนเช่นเดียวกับไฟฟ้า นี่เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ทำต้นร่างเสร็จแล้ว
เรื่องที่สองคือ เรื่องการควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศและการสำรองน้ำมันและก๊าซของประเทศ ไม่ใช่ของภาคเอกชนที่เป็นพ่อค้านักธุรกิจแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสำรองน้ำมันเฉลี่ยรวมกันเพียงประมาณ 20 กว่าวัน ในขณะที่กติกาของ IEA ต้องมีสำรองน้ำมันประมาณ 90 วัน เรียกว่า การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Petrolium Reserve (SPR) ไม่ใช่สำรองเพื่อการค้า ซึ่งเราจะต้องมีระบบนี้มาแทนระบบกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินมาเป็นทุนสำรองและเมื่อเรามีสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เราจะไม่ปล่อยให้เป็นเพียงการเก็บสำรองน้ำมันไว้เฉยๆ แต่เราจะนำน้ำมันสำรองนี้มาหมุนเวียนโดยนำมาใช้กำหนดหรือรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศผ่านกองทุนที่อาจจะเปลี่ยนจากกองทุนน้ำมันฯ เป็น “กองทุนน้ำมันสำรองเพี่อความมั่นคง” ควบคู่กันไป
รูปแบบนี้จะทำให้เราสามารถเผชิญกับวิกฤติน้ำมันหรือพลังงาน เช่น ในกรณียูเครนและความขัดแย้งในตะวันออกกลางในปัจจุบันได้ดีกว่ารูปแบบปัจจุบัน ส่วนรายละเอียดการได้มาของน้ำมันสำรองนี้ หรือการเก็บรักษาได้คิดและศึกษาไว้หมดแล้ว จะทำให้ประเทศเก็บน้ำมันเข้ากองทุนฯ แทนเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยคาดว่าปลายปีนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการกำหนดราคาน้ำมันจะเสร็จสิ้น และกฎหมายสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ SPR จะเสร็จตามมาประมาณต้นปี 2568
“สงครามในปัจจุบัน เป็นเหตุผลที่ต้องให้มีสำรองน้ำมันของรัฐ เมื่อไหร่ที่เรามีกฎหมายสำรองน้ำมัน เราหามาได้ก็เข้าคลังสำรองน้ำมันของรัฐ เราวางระบบไว้ให้ถูกต้องก็จะมีความมั่นคงด้านน้ำมันและก๊าซและการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งเฉลี่ยการใช้น้ำมันของประเทศรวมกว่า 100 ล้านลิตรต่อวัน คำนวณ 1 ปี ตามสัดส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในปัจจุบัน รัฐน่ามีน้ำมันสำรอง ไม่ต่ำกว่า ปีละ 3,650 ล้านลิตร จะเป็นการช่วยประชาชนหลุดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคาตลาดโลก กำไร ขาดทุน เป็นเรื่องของรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน ที่ต้องบริหารจัดการร่วมกันผ่านระบบกองทุนน้ำมันและก๊าซสำรองฯ” นายพีระพันธุ์ สรุป
ในปี 2568 น่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่จะมีแรงกระเพื่อมในแวดวงพลังงานอย่างมาก โดยเฉพาะผลจากการเสนอกฎหมายต่าง ๆ เพื่อปรับโครงสร้างพลังงานที่ใช้กันมายาวนาน 50 ปี อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ประกาศชัด
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส