ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

“นายกฯอิ๊งค์”ประเดิมพบเอกชนโชว์วิชั่นปลดลดหนี้ หอการค้ายื่นเรื่องด่วนเรียกเชื่อมั่นศก.ไทย

Aug 23, 2024 การผลิต IDOPRESS

"นายกฯ แพทองธาร" ประเดิมพบหอการค้า โชว์วิชั่นเน้นปลดลดหนี้ เน้นพัฒนาคน ควบคู่ซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมทำงานร่วมเอกชน ด้านหอการค้ายื่นแผนด่วน-กลาง-ยาว เรียกเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ดันเศรษฐกิจเข้าเป้า สร้างความสามารถแข่งขันประเทศกลับมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้นำคณะผู้บริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อแสดงความยินดีกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 และหารือถึงประเด็นสำคัญการเร่งสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยอย่างตรงจุด และหอการค้าไทยได้จัดทำข้อเสนอทางเศรษฐกิจเร่งด่วนมอบต่อนายกรัฐมนตรี ณ อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าวฯ มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง และนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชน วันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่น ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นกรอบในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเน้นย้ำการปลดและลดหนี้ร่วมกัน ด้วยวิธีการลดส่วนต่างของดอกเบี้ยและจัดการหนี้นอกระบบ การจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้ การจัดการเรื่อง Anti-dumping และเห็นด้วยกับหอการค้าฯ ในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ และสิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวตามเป้าหมายเน็ท ซีโร่ ที่ไทยประกาศไว้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าฯ ได้รับระดมความเห็นจากเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศโดยมี 3 เรื่องเร่งด่วนที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 1. การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว 2. การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs และ 3.การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน ดังนี้

1. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

แผนงานเร่งด่วนระยะสั้น ได้แก่

1) กระจายงบประมาณ (De-Centralized) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค และให้ความสำคัญกับจัดทำงบประมาณปี 68 ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ไม่ให้ยืดเยื้อเหมือนในปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

2) การกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3 กลุ่ม โดยแยกวิธีการให้เหมาะสม ได้แก่ (1) มุ่งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจไปยังกลุ่มเปราะบาง เป็นสิ่งเร่งด่วนก่อน เพื่อให้กลุ่มนี้มีกำลังซื้อทันที โดยใช้ Platform ภาครัฐที่มีอยู่หรือพิจารณาแจกแบบเงินสด เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน (2) ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ สามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคนละครึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อ โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก (3) สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สามารถออกมาตรการเพื่อดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น เช่น มาตรการ Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ โดยรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ

3) มาตรการช่วยเหลือและเยียวยา ได้แก่ (1) ลดค่าใช้จ่ายทั้งการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น (2) การพิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ตามแต่ละประเภทให้ชัดเจน อาทิ ลูกหนี้ชั้นดี ที่มีวินัยในการชำระสม่ำเสมอ หรือลูกหนี้ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ เช่น เช่าซื้อรถเพื่อมาประกอบธุรกิจ รัฐบาลอาจมีมาตรการลักษณะส่วนลดค่าดอกเบี้ย(4) สถาบันการเงินต่างๆ ควรผ่อนผันค่าปรับการจ่ายหนี้ล่าช้า เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน(5) สำหรับการจัดการสภาพคล่องผู้ประกอบการ จำเป็นต้องปรับปรุงการชำระหนี้และจัดการหนี้ของภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่กับ SMEs โดยปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินค่าสินค้าให้รวดเร็ว รวมถึงการนำเอาเอกสารการสั่งซื้อ ส่งมอบสินค้าไปทำ supply chain financing จะทำให้กระแสเงินสดของ SMEs ดีขึ้น

4) กระจายอำนาจ ได้แก่ (1) มีมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม สำหรับการลงทุนในเมืองที่มีศักยภาพ ซึ่งนอกจากเป็นเมืองน่าเที่ยวแล้วยังต้องเป็นจังหวัดนำร่องที่ต้องปลดล็อกศักยภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้มากขึ้น (2) สานต่อโครงการที่หอการค้าฯ ร่วมกับรัฐบาลชุดก่อนยกระดับเมืองสู่เมืองหลัก โดยมีเป้าหมาย 10 จังหวัดทั่วประเทศ

5) ปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ

แผนงานระยะกลางและยาว ได้แก่

1) เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่ทั้ง กรอ. กลาง,กรอ.กลุ่มจังหวัดและจังหวัด เช่นเดียวกับ Partnership Model ในต่างประเทศ ในรูปแบบ Team Thailand Plus โดยเฉพาะโครงการ YPC : Young Public Private Collaboration ที่แต่ละจังหวัดได้รับความร่วมมือจากทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชื่อมโยงการทำงานและสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนในแต่ละจังหวัด

2) เน้นการสื่อสารนโยบายเศรษฐกิจให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจรับรู้และเกิดความมั่นใจ

3) สำหรับการวัดผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ เอกชนเห็นว่าควรตั้งเป้า GDP ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 3–5% โดยส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลเสมือนเซลส์แมนเปิดการขาย และจำเป็นต้องปิดการขายให้ได้ ซึ่งต้องมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลความสำเร็จอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ควรใช้ Ease of Doing Business Index เป็นดัชนีวัดผลการปรับปรุงกฎระเบียบในการทำธุรกิจของประเทศ ตลอดจนมีมาตรการ กฎระเบียบ หรือกฎหมาย ที่สอดรับกับแนวทาง SDGs เพื่อให้เกิดการยอมรับจากนานาชาติ

2. การเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผ่านกลยุทธ์ ผลักดันตั้งรับ จับมือ ช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่

ผลักดัน – นโยบาย E-Commerce ของชาติ และการศึกษาผลกระทบของสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างจริงจัง ลงรายละเอียดรายอุตสาหกรรม รวมถึงใช้ Data Driven ส่งเสริมสินค้าไทยใน Platform E-Commerce ควบคู่ไปกับการผลักดันสินค้าไทยออกไปในต่างประเทศให้มากขึ้น โดยใช้รูปแบบบริษัทตัวกลางทำหน้าที่ช่วยเหลือ SMEs ไทย ที่มีสินค้าดีมีคุณภาพ หาช่องทางเข้าไปจำหน่ายใน Platform ต่างๆ นอกจากนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องศึกษาสิทธิประโยชน์และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ รวมถึงเร่งเจรจา FTA พร้อมกำหนดประเทศยุทธศาสตร์ ซึ่งสินค้าไทยมีโอกาสขยายตลาดใหม่ได้ในประเทศอินเดีย บราซิล และเม็กซิโก โดยเฉพาะ Soft Power ที่จะเป็นส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการไทย ตลอดจนสร้างนักรบดิจิทัล-นักรบ E-Commerce ด้วยการเน้นหลักสูตรเทคนิคการขายให้มากขึ้น เพื่อสร้างเด็กไทยให้เป็นนักขายที่พร้อมส่งออกสินค้าแต่ละท้องถิ่นไปยังตลาดใหม่ๆ ทั่วโลก

ตั้งรับ – จัด Priority สินค้าบางประเภทของไทย ที่จำเป็นต้องมีมาตรการปกป้อง เพื่อให้มีที่ยืนและแข่งขันได้ ภายใต้ความเป็นธรรม และใช้เป็นมาตรฐานอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ พร้อมทั้งส่งเสริม SMEs ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐานสากล ไม่แข่งขันด้านราคากับจีนเพราะ Economies of Scale รวมถึงมีการเพิ่มมาตรการด้านการลงทุน เน้นบังคับใช้ Local Content มาตรการควบคุมระบบชำระเงิน Payment ต่างชาติ ให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และการจัดเก็บภาษี E-Commerce ต่างชาติ

จับมือ – ส่งเสริมให้มีการลงทุนร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างชาติ (Joint Venture) และให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับไทย ขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างกลไกการทำงานร่วมกับรัฐบาลจีน เพื่อช่วยเข้มงวดมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าที่นำเข้า

3. การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน ได้แก่

1) รักษาโมเมนตั้มในธุรกิจที่ประเทศไทยยังแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งเรื่อง Food Tourism Wellness และ Logistics ที่รัฐบาลได้วางแผนไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค รวมถึงเร่งดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ด้านดิจิทัล,EV Car และส่งเสริมเรื่องการ Connectivity ในภูมิภาค เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อสร้าง S-Curve ของเศรษฐกิจไทย

2) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ของไทย ส่งเสริมรูปแบบการเรียน STEM Education เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานทักษะสูง และการสร้าง Learning Center เปลี่ยนแปลงบทบาทของครู จาก Center of Knowledge ไปเป็น Facilitator ให้เด็กและคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมตามความสนใจ โดยภาคเอกชนพร้อมมีส่วนในการจัดทำฐานความรู้ Learning Center ออกแบบ curriculum ร่วมกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ควรจัดทำ Internship แบบ open ระหว่างเรียนที่สามารถเก็บเป็น Credit จะช่วยให้สามารถพัฒนาคนได้ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ

3) ยกระดับโครงสร้างพลังงานดั่งเดิมสู่พลังงานสีเขียว โดยกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจนในการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน ให้เป็นสัดส่วนหลักในการผลิตไฟฟ้าระบบ Carbon Credit Trading และมีมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียน และการกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานสำหรับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง รวมถึงส่งเสริมการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ฯลฯ

“ข้อเสนอระยะเร่งด่วนนี้จะช่วยทำให้ GDP ของไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้ประเด็นข้อเสนอทางเศรษฐกิจเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนและเห็นผลเป็นรูปธรรม” นายสนั่น กล่าวทิ้งท้าย

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส