ก็เป็นไปตามคาด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ยุบพรรคก้าวไกล ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญ ยังสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้ง ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 74
คุณอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบ ผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญของสำนักงาน กกต. จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จากการเสนอแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเห็นว่า “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
กกต.ได้พิจารณาผลการศึกษาและวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มีมติโดยเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกล โดยมอบหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน กกต. ตามมาตรา 93 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน”
เมื่อ กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามความผิดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเป็นเอกฉันท์อีกรอบให้ยุบพรรคก้าวไกลตามที่ กกต. เสนอหรือไม่ คงจะคาดเดากันได้ไม่ยาก คงไม่มีข่าวดีสำหรับพรรคก้าวไกล ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบ ผลที่จะตามมาก็คือ คณะกรรมการบริหารพรรคคนสำคัญในขณะนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค (หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน) นายประดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรค (รองประธานสภาผู้แทนฯคนที่สอง) และกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี สส.ของพรรคก็จะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน
คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลและทีมกฎหมายได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ไม่อยากให้ด่วนสรุปผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร การยุบพรรคเกิดขึ้นหลายครั้งกับหลายพรรค เราไม่อยากให้การยุบพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าพรรคใดก็ตาม อย่างกรณี พรรคภูมิใจไทย แม้จะมี สส.ก้าวไกลเป็นผู้เปิดโปงเรื่องการทุจริตที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารพรรค แต่บทลงโทษที่เหมาะสมคงไม่ใช่การยุบพรรค แต่ควรลงโทษที่ผู้บริหารพรรค
ฟัง โฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ แสดงว่าพรรคก้าวไกลเตรียมพรรคอะไหล่ไว้พร้อมแล้ว ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบ สส.พรรคก้าวไกลก็พร้อมจะย้ายไปอยู่พรรคใหม่ที่สามารถทำหน้าที่ต่อในสภาได้ทันที ตั้งแต่มี ศาลรัฐธรรมนูญ มา มีพรรคการเมืองถูกยุบไปแล้วกว่า 100 พรรค ทำให้การยุบพรรคกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ของการเมืองไทย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส