วันที่ 18 กุมภาพันธ์ หรือทันทีที่พ้นเที่ยงคืนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษ ปล่อยตัวกลับบ้าน หลังถูกจำคุกในโรงพยาบาลตำรวจครบ 180 วัน
โดยทักษิณ บินกลับมารับโทษจำคุกตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม จะครบ 180 วัน วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ขั้นต่อไปจะต้องรอรับเอกสารปล่อยตัว คาดว่าไม่เกินวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ อดีตนายกฯ ทักษิณ จะได้รับพักโทษปล่อยกลับบ้านโดยไม่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการพักโทษ ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ได้ลงมติเห็นชอบบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับการพักโทษเสร็จเรียบร้อยแล้ว
รายงานข่าวระบุว่า การพิจารณาพักโทษแต่ละรอบจะมีผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ได้พักโทษนับพันคน เนื่องจากอายุเกิน 70 ปี มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง และได้รับโทษมาแล้วเกิน 1 ใน 3 หรือไม่ต่ำกว่า 180 วัน แล้วแต่กรณี
เงื่อนไขหลังจากทักษิณได้รับการพักโทษ ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม 1 ครั้ง หรือ 2 ครั้งต่อเดือนตามความเหมาะสมในแต่ละราย และห้ามเดินทางไปต่างประเทศ หรือเดินทางไปต่างพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติอย่างเป็นทางการ
ทำให้เท่ากับหลังทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วัย 74 ปี เดินทางกลับไทย 22 สิงหาคม 2566 รับคำพิพากษาจำคุก 8 ปี จาก 3 คดี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือจำคุก 1 ปี และระหว่างการรับโทษที่ผ่านมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะได้รับการพักโทษ สรุปคือ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้รับโทษจำคุกภายในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว
คดี ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีมูลเหตุจากที่ทักษิณให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Time ที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีส่วนหนึ่งพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 กองทัพบกแจ้งความเอาผิดทักษิณ กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากนั้น ปอท.ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559
ซึ่งขณะนี้สำนวนคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป
ณรงค์ ศรีระสันต์ อัยการพิเศษฝ่ายแผนและช่วยเหลือทางกฎหมาย รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีการพักโทษทักษิณว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 กรณี
กรณีที่ 1 ราชทัณฑ์จะแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนที่อายัดทักษิณไว้ก่อนพักโทษ โดยมีหนังสือแจ้งไปทางพนักงานสอบสวนล่วงหน้าประมาณ 7 วัน ว่ายังประสงค์จะรับตัวหรือไม่ เพราะจะได้รับการพักโทษในวันที่นั้นๆ หากประสงค์ก็มารับตัวไป ถ้าหากพนักงานสอบสวนมารับตัว แสดงว่าคดีที่ทักษิณถูกพักโทษจะไม่สามารถไปฟ้องเบิกตัวจากคดีนั้นๆ ได้แล้ว และต้องไปเริ่มต้นคดีที่พนักงานสอบสวนรับตัวมาใหม่ ซึ่งพนักงานสอบสวนจะนำตัวไปควบคุมหรือประกันขึ้นอยู่กับสำนวนคดีใหม่
กรณีที่ 2 หากการพักโทษทักษิณวันนั้น ผลคดีสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น หรือไม่ดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนยังไม่มารับตัว ทักษิณก็จะได้รับการปล่อยตัวในวันพักโทษ ก็สามารถกลับบ้านหรือสถานที่ที่ราชทัณฑ์กำหนด และไม่สามารถฟ้องเบิกตัวคดีเก่าได้ เพราะถือว่าทักษิณได้พ้นโทษจากการพักโทษไป แต่ทักษิณต้องรายงานตัวต่อกรมคุมประพฤติตามกฎหมาย ซึ่งถ้าพนักงานสอบสวนได้คำสั่งจากอัยการว่า คดีมาตรา 112 พนักงานอัยการมีคำสั่งแล้ว และยังประสงค์ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวทักษิณ ถ้าไม่มาหรือหลบหนี พนักงานสอบสวนก็ต้องออกหมายจับตามกระบวนการปกติ
ซึ่งดูจากรูปการณ์ในปัจจุบันแล้ว ทักษิณที่ได้รับการพักโทษจะไม่มีการอายัดตัวระหว่างนี้ ทำให้คดีมาตรา 112 ไม่เป็นอุปสรรค์อีกต่อไปในการก้าวออกไปจากชั้น 14 แต่การได้ก้าวออกไปนั้น ทักษิณก็ยังไม่สามารถลงมาเล่นการเมืองได้อย่างเต็มตัว เพราะยังคงมีคดีมาตรา 112 อยู่ แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าอิสรภาพของทักษิณ จะส่งผลต่อการทำงานของพรรคเพื่อไทยแน่นอนเป็นที่น่าจับตามองว่าสนามการเมืองจะเดือดกว่าเดิมหรือไม่ เพราะนายใหญ่เพื่อไทยได้กลับบ้านอย่างแท้จริงแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเวลา 06.06 น. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นรถที่โรงพยาบาลตำรวจ เดินทางกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 หลังจากแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ พิณทองทา ในฐานะลูกสาวทักษิณ ได้เดินทางมารับตัวออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ทั้งนี้ ขบวนรถนำนายทักษิณ ได้เลี้ยวเข้าสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อเวลา 06.33 น. เป็นที่เรียบร้อย
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทักษิณเดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจด้วยรถตู้ ในชุดเสื้อสีเขียว ซึ่งเป็นสีมงคล โชคลาภ เงิน ทองประจำวัน และช่วงเวลา 6 โมงเช้าที่ออกจากโรงพยาบาลนั้น เร่งยาตรา จะมีลาภสวัสดี
ขั้นตอนการปล่อยตัวทักษิณ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อาจเป็น ผู้บริหารเรือนจำฯ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้เดินทางไปพบผู้ได้รับการพักโทษ พร้อมกับนำเอาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักโทษให้ทักษิณเซ็นลายมือชื่อด้วย ซึ่งทักษิณ ถือว่าครบวันบริหารโทษและได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษแล้ว อีกทั้งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อนุมัติรับทราบให้ปล่อยตัวพักโทษ เมื่อถึงวันพักโทษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถคุมตัวไว้ได้อีกต่อไป
ส่วนกระบวนการเกี่ยวกับการคุมประพฤติระหว่างพักโทษ เช่น ข้อกำหนด ข้อห้ามการกระทำ หรือเงื่อนไขการรายงานตัวต่างๆ หลังจากนี้ก็ค่อยดำเนินการในภายหลังได้ โดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีเวลา 3 วัน ในการเดินทางเข้าพบผู้ได้รับการพักโทษ นับแต่วันที่ได้พักโทษ ซึ่งในกรณีถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัว ประพฤติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยดีตลอดจะได้รับใบบริสุทธิ์ และพ้นโทษไปตามคำพิพากษา เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติสืบต่อไป
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส