แคมเปญการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … ของภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ สรุปประชาชนร่วมลงชื่อ จำนวน 35,905 คน (เวลา 19.00 น.)
ทั้งนี้ ภายในวันสุดท้ายของการลงชื่อ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนกิจกรรมขึ้นที่ลานหน้ารัฐสภา ในชื่อ ‘ส่งรักให้ถึงสภา’ ไฮไลต์สำคัญนอกจากการเสวนาสร้างความเข้าใจในความจำเป็นของการมีนิรโทษกรรมแล้ว ยังมีการส่งมอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ให้กับประธานสภา และหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์เดิมนั้น ทางเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนย้ำถึงการส่งจดหมายเชิญทุกพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองที่ตอบรับมาร่วมงานและรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนมีเพียง 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล, เพื่อไทย และ พรรคเป็นธรรม
ไทยรัฐพลัสพาส่องความเห็นพรรคการเมืองต่างๆ ต่อ ร่างนิรโทษกรรมประชาชน ที่มีจุดยืนสำคัญและแตกต่างจากร่างของพรรคการเมืองอื่นๆ คือ นิรโทษกรรมให้แก่คดีมาตรา 112
ขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย และโฆษกกรรมาธิการฯ เป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวย้อนไปถึงการพูดเรื่องนิรโทษกรรมที่เคยมีการพูดถึงมาแล้วกว่า 10 ปีว่า การพูดคุยเรื่องนิรโทษกรรมในตอนนั้น นำไปสู่เงื่อนไขการรัฐประหาร
แต่ 10 ปีผ่านไป มีการพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรมอีกครั้ง และวันนี้มีการเสนอกฎหมายจากภาคประชาชน และพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งแต่ละร่างมีความแตกต่างกัน จึงทำให้พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อหาแนวทางอันเป็นสารตั้งต้น ให้หลายพรรคการเมืองและหลายฝ่าย นำไปร่างเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ขัตติยา กล่าวถึง กมธ.นิรโทษกรรมฯที่พรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อนั้น ตั้งใจที่จะให้มีการพูดคุยกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่อยากให้มีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น รวมถึงฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม
“การรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราไม่อยากให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง”
ขัตติยา กล่าวทิ้งท้ายว่า เวทีสภาฯ และ กมธ.นิรโทษกรรมฯชุดนี้จะทำหน้าที่กันอย่างเต็มที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้การนิรโทษกรรมในวันนี้นำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตเหมือนในอดีตที่เกิดขึ้น
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวถึงปัจจุบันที่เรื่องนิรโทษกรรมนั้นยังมีหลายความเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ก็หวังว่า กมธ.นิรโทษกรรมฯ ที่สภาเพิ่งได้ตั้งขึ้นจะเป็นเวทีสำคัญที่จะรวมหลายความคิดเห็นมาศึกษาเปรียบเทียบ เบื้องต้นสนับสนุนการนิรโทษกรรมอยู่แล้ว และใช้โอกาสในการผลักดัน
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า การที่สนับสนุนไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด เพราะหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และมองว่าถ้าสนับสนุนการนิรโทษกรรมหมายความว่าเป็นการสนับสนุนให้คนกระทำผิดไปเรื่อยๆ และค่อยมานิรโทษกรรมกัน
“ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใครกระทำผิดเลย โดยข้อเท็จจริงเราต้องยอมรับว่ามีคนกระทำผิดรวมถึงคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ผมคิดว่าถ้าเราจะหาทางออกให้กับบ้านเมือง เราไม่สามารถมองคดีความเหล่านี้ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมือง มีเหตุจูงใจทางการเมืองอย่างแยกไม่ออก ไม่สามารถมองคดีเหล่านี้เป็นอาชญากรรมปกติได้”
“ต้องมองว่าเป็นปัญหาทางการเมือง เป็นปัญหาทางความคิด ดังนั้นผมสนับสนุนการผลักดันการนิรโทษกรรมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองที่สืบเนื่องยาวนานมาเกือบ 2 ทศวรรษในสังคมไทยแล้ว”
ชัยธวัช ยังเชื่อว่าการนิรโทษกรรมอย่างเดียวคงไม่สามารถที่จะยุติความขัดแย้งได้อย่างสิ้นเชิง ต้องมีการพูดคุยกันอีกเยอะหลายเรื่องว่าควรจะมีอะไรต้องทำบ้าง ทั้งก่อนและหลังการนิรโทษกรรม และหวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะเป็นส่วนหนึ่งในการรวบรวมข้อเสนอเรื่องนี้ด้วย
“ผมคิดว่าการนิรโทษกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแห่งความรัก การเมืองแห่งความรักเป็นทางออก แต่มันคงไม่ได้หมายความว่าเราจะรักกันทุกคน แต่การเมืองแห่งความรักคือการเมืองที่เข้าอกเข้าใจกันยืนอยู่บนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อส่วนรวม แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นตรงกันทุกเรื่อง ก็อยากให้ทุกฝ่ายสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างการเมืองความรัก”
“เมื่อไหร่ร่างนี้เข้าสู่สภา พวกเราในฐานะส่วนหนึ่งของผู้แทนราษฎร พร้อมสนับสนุนเพื่อให้ร่างของประชาชนได้พิจารณากับอีกหลายๆ ร่าง และหวังว่าเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พรรคเพื่อไทยพูดถึงมีรายงานออกมาแล้ว จะเห็นร่างของฝั่งรัฐบาลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เสนอเข้ามาในสภาเพิ่มเติมและพิจารณาร่วมกัน”
กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้จะไม่ได้เป็นหนึ่งใน กมธ.นิรโทษกรรมฯ แต่ก็มองว่าการนิรโทษกรรมเป็นการให้อภัยและเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้คือสิ่งที่พวกเราต้องการ
“ขอฝาก กมธ.ชุดนี้ว่าจุดหมายปลายทางการนิรโทษกรรมของเราคือใคร กลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ในร่าง พ.ร.บ.คือใคร ต้องดูให้ดีว่าใครที่ทำผิดก็ต้องได้รับผิด ส่วนใครที่ไม่ผิดแต่โดนบังคับใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง ต้องถูกปล่อยออกมา”
สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่ได้ตอบรับคำเชิญร่วมงานส่งรักให้ถึงสภา เช่น พรรคประชาธิปัตย์, พรรคภูมิใจไทย, พรรคพลังประชารัฐ, พรรครวมไทยสร้างชาติ และ พรรคชาติไทยพัฒนา มีเคยแสดงจุดยืนต่อการนิรโทษกรรม ว่าไม่หนุนการนิรโทษกรรมให้แก่คดีมาตรา 112
เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ สภาผู้แทนราษฎร มีมติ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 35 คน ตามที่พรรคเพื่อไทย เสนอ โดยที่ประชุม กมธ.นิรโทษกรรมฯ มีมติให้ ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน กมธ.ฯ
สำหรับ กมธ. ชุดนี้มี จำนวน 35 คน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี จำนวน 8 คน พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย พรรคละ 8 คน พรรคภูมิใจไทย จำนวน 4 คน พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคละ 2 คน พรรคประชาธิปัตย์, พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคประชาชาติ พรรคละ 1 คน
กรอบเวลาทำงาน กมธ.ชุดนี้กำหนด ไว้ 60 วัน ประชุมทุกวันพฤหัสบดี ตั้งแต่เวลา 13.00 น. และจะมีการนำร่างที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอไว้ รวมถึงร่างภาคประชาชน และของพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามาพิจารณาด้วยใน กมธ. ด้วย
ปัจจุบันมีการยื่นร่างเข้าสู่สภาฯ 3 ร่างด้วยกัน พรรคร่วมไทยสร้างชาติ พรรคครูไทเพื่อประชาชน และพรรคก้าวไกล ซึ่งร่างนิรโทษกรรมของประชาชนจะเข้าไปสู่การพิจารณาเป็นร่างที่ 4 ในสภาฯ
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … กำหนดกรอบเวลาในการนิรโทษกรรมรวมทุกคดีการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงคดีในมาตรา 112 โดยนิรโทษกรรมให้ประชาชนทุกฝ่าย ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินกว่าเหตุ และความผิดมาตรา 113 หรือ ความผิดฐานเป็นกบฏ
ในมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.นี้ ระบุไว้ชัดเจนว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่ได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที ได้แก่
ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยนิรโทษกรรมคดีการเมืองอื่นๆ ชื่อ ‘คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน’ เพื่อเป็นกลไกในการนิรโทษกรรมด้วย โดยมีสมาชิกทั้งหมด 19 คน ประกอบไปด้วย
1. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรมการ
2. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
3. ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
4. สส. 10 คน ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
5. ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552-2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557-2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 เหตุการณ์ละ 1 คน
6. องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน
หลังจากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ถูกบังคับใช้แล้ว คดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทั้งผ่านตัวกฎหมายหรือผ่านคณะกรรมการจะถูกยุติลง รวมถึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติลบประวัติอาชญากรรมของผู้ที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยคณะกรรมการต้องกำกับดูแลเรื่องนี้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้น อีกหน้าที่ของคณะกรรมการคือต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังจากการนิรโทษกรรม
ร่างกฎหมายฉบับนี้นิรโทษกรรมเพียงคดีอาญาเท่านั้น มิได้ตัดสิทธิในการฟ้องแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองดังกล่าวหากมีการสร้างความเสียหายให้ในทางแพ่ง
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส