ธ.ก.ส. จับมือเครือข่ายธนาคารต้นไม้ จังหวัดชุมพร ขับเคลื่อนภารกิจซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต โครงการ BAAC Carbon Credit
ธ.ก.ส. ร่วมเครือข่ายธนาคารต้นไม้ จ.ชุมพร ผลักดันการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit พร้อมขยายผลไปยังธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ ตั้งเป้าสร้างคาร์บอนเครดิตสะสม 5.10 แสนตันคาร์บอน ภายในปี 2571 และสร้างรายได้ให้ชุมชน มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท พร้อมเชิญชวนหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน การรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกร ปลูกป่าตามพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” และยกระดับไปสู่โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่าจนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท และเพื่อเป็นการต่อยอดการดำเนินงานให้ตอบโจทย์เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 ธ.ก.ส. ได้จัดตั้งโครงการ BAAC Carbon Credit ขับเคลื่อนการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งมีการซื้อ-ขายครั้งแรกไปแล้วที่ชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท
โดยในวันนี้ ธ.ก.ส. พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายชุมชนธนาคารต้นไม้ในจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดธนาคารต้นไม้แห่งแรกในประเทศไทย จำนวน 8 เครือข่าย ได้แก่ ธนาคารต้นไม้บ้านประสานมิตร ธนาคารต้นไม้บ้านดอนไทรงาม ธนาคารต้นไม้บ้านพะงุ้น ธนาคารต้นไม้บ้านบางฝนตก ธนาคารต้นไม้บ้านวังช้าง ธนาคารต้นไม้บ้านคลองโซน ธนาคารต้นไม้บ้านรุ่งเรืองและธนาคารต้นไม้บ้านปากแดง มาร่วมขับเคลื่อนภารกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ผ่านโครงการ BAAC Carbon Credit โดยสนับสนุนให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ สีเขียวและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ด้วยการตรวจนับจำนวนต้นไม้ บันทึกข้อมูลและคำนวณการกักเก็บคาร์บอนและผ่านการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) และเมื่อได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ธนาคารต้นไม้จะสามารถนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปจำหน่ายให้กับภาคธุรกิจต่อไป โดยมีหลักการคิดคำนวณดังนี้ ต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนราคาซื้อ-ขายแบบกึ่ง CSR ราคา 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างกำลังใจให้กับชุมชนในการดูแลและปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น พร้อมวางแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจคาร์บอนเครดิตให้ชุมชนด้วยหลักการ Care Share and Fair โดยคิดคำนวณรายได้ : ค่าใช้จ่ายในอัตรา 70 : 30 โดย ธ.ก.ส. จะออกค่าดำเนินงานให้กับชุมชนไปก่อน เช่น ค่าตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ และค่าทวนสอบปริมาณคาร์บอนเครดิตโดยผู้ประเมินภายนอก และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเป้าหมายโครงการ BAAC Carbon Credit ธนาคารเตรียมขยายผลไปยังชุมชนธนาคารต้นไม้อีกกว่า 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ หนุนการปลูกป่าเพิ่มอีกปีละ 108,000 ต้น และวางเป้าหมายสร้างปริมาณการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตอีกกว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายในปี 2571 ได้แก่ ปี 2567 จำนวน 2,580 ตันคาร์บอน ปี 2568 จำนวน 43,700 ตันคาร์บอน ปี 2569 จำนวน 68,801 ตันคาร์บอน ปี 2570 จำนวน 188,100 ตันคาร์บอน และปี 2571 จำนวน 207,100 ตันคาร์บอน นอกจากนี้ ยังพร้อมส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเพาะกล้าไม้เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การทำนาเปียกสลับแห้งเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน การลดการเผาตอซังข้าว อ้อยและข้าวโพดเพื่อลด PM 2.5 การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน การนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตน้ำส้มควันไม้ ปลูกสมุนไพร และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น ในโอกาสนี้ ธ.ก.ส. ขอเชิญเกษตรกรและชุมชนธนาคารต้นไม้มาร่วมเปลี่ยนอากาศให้เป็นเงินกับโครงการ BAAC Carbon Credit และเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะตอบโจทย์เป้าหมายภาคธุรกิจแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนรายได้และให้กำลังใจชุมชนในการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงร่วมสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนให้กับประเทศชาติอีกด้วย ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาลูกค้าและชุมชน ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ 2346 ถนนพหลโยธิน แขวงเสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 หรือ Call Center 02 555 0555
คุณกรีธา สุขศิริ ประธานเครือข่ายธนาคารต้นไม้บ้านประสานมิตร จังหวัดชุมพร กล่าวว่า สำหรับเครือข่ายธนาคารต้นไม้ชุมพรได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. ตลอดมา ตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งธนาคารต้นไม้ การยกระดับธนาคารต้นไม้ไปสู่ชุมชนไม้มีค่า การนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินด้วยการนำไปใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส รวมถึงการสร้างรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้ ซึ่งในปัจจุบันเครือข่ายธนาคารต้นไม้ในจังหวัดชุมพร มีจำนวน 111 ชุมชน จำนวนผู้ปลูกต้นไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 2,963 ราย และจำนวนต้นไม้กว่า 126,731 ต้น และในวันนี้เครือข่ายธนาคารต้นไม้ในจังหวัดชุมพร มีความพร้อมที่จะร่วมมือกับ ธ.ก.ส. ในการขับเคลื่อนภารกิจการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ BAAC Carbon Credit เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่จะมาดูดซับปริมาณคาร์บอน ลดโลกร้อน และสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนจากการปลูกป่า สร้างภูมิคุ้มกันและบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน และผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอนตามเป้าหมายที่วางไว้
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส