เปิดเกณฑ์ใหม่ประกันรถยนต์ไฟฟ้า EV ปี 2567 ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง อายุการใช้งานแบตเตอรี่กี่ปี คุ้มครองเท่าไหร่?
อัปเดตเกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พร้อมทำความเข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ ช่วยวางแผนค่าใช้จ่ายและเลือกซื้อประกันรถไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม
เกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV ที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง?
เกณฑ์ประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมถึงผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต้องพิจารณาให้ดี จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1.การระบุผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า
ในอดีตการซื้อประกันชั้น 1 รถยนต์ EV จะสามารถเลือกกำหนดผู้ขับขี่ได้สูงสุด 2 คน ซึ่งทางผู้เอาประกันเองก็สามารถเลือกไม่ระบุผู้ขับขี่ได้เช่นกัน แต่เกณฑ์ประกันรถไฟฟ้าใหม่ได้มีการกำหนดให้ ‘ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่’ โดยสามารถเลือกระบุได้สูงสุด 5 รายชื่อ
หากผู้เอาประกันนำรถยนต์ไฟฟ้าไปให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า ผู้เอาประกันอาจต้องเสีย ‘ค่าเสียหายส่วนแรก’ ในกรณีที่พิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายผิด แต่ยังได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อยู่ แต่หากเป็นฝ่ายถูกจะไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก แม้จะไม่ได้ระบุเป็นชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ก็ตาม
นอกจากนี้ หากต้องการต่อประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ 2 ทางบริษัทประกันจะทำการตรวจสอบระดับพฤติกรรมการขับขี่ส่วนบุคคลของผู้ขับขี่ที่มีชื่ออยู่ในกรมธรรม์ทั้งหมดมาประเมินและพิจารณาค่าเบี้ยประกันในปีต่อ ๆ ไป
โดยหากยิ่งมีประวัติดี ร่วมกับมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่อยู่ในเกณฑ์ดีด้วย ผู้เอาประกันก็มีโอกาสได้รับส่วนลดประกันรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยส่วนลดประวัติดีสูงสุดอยู่ที่ 40% และส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่ดีจะอยู่ที่ 40%
2.ระบบเก็บข้อมูลและตรวจสอบพฤติกรรมผู้ขับขี่
นอกจากเงื่อนไขความคุ้มครองแล้ว เกณฑ์ใหม่ประกันรถยนต์ไฟฟ้ายังระบุถึงระบบเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ขับขี่เพื่อนำมาคำนวณเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยระบบจะเก็บประวัติการขับขี่จากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งหากเป็นผู้ขับขี่รถยนต์น้ำมันที่มีการชน หรือ เกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะมีการเก็บประวัติในส่วนนี้เป็นรายบุคคลด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ระดับของพฤติกรรมการขับขี่ หรือ ประวัติการขับขี่นี้ ยังขึ้นอยู่กับการเกิดอุบัติเหตุด้วย หมายความว่า หากไม่เกิดอุบัติเหตุเลยก็จะทำให้ระดับพฤติกรรมการขับขี่สูงขึ้น และในทางตรงกันข้าม หากเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ระดับพฤติกรรมถอยกลับไปสู่ระดับเริ่มต้น ซึ่งระดับพฤติกรรมการขับขี่จะพิจารณาจากประวัติของผู้ขับขี่ทั้งหมดที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งจะส่งผลกับส่วนลดของประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปีต่อไป
จากกรณีนี้ หมายความว่า หากผู้ขับขี่คนใดคนหนึ่งที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์มีระดับพฤติกรรมไม่ดี เท่ากับว่า กรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้านี้ก็จะไม่ได้รับส่วนลดในปีถัดไป
หากผู้ขับขี่ไม่ได้ระบุชื่อตัวเองเป็นผู้ขับขี่ในการทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ระดับพฤติกรรมการขับขี่กลับไปอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เท่ากับว่า หากกลับมาระบุชื่อตัวเองมาอยู่ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกรอบ ไม่ว่าจะทำบริษัทประกันภัยเดิมหรือบริษัทประกันภัยใหม่ ก็จะทำให้ไม่ได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกัน เนื่องจากระดับพฤติกรรมการขับขี่ได้กลับไปจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
3.ความคุ้มครองแบตเตอรี่
เกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV ได้มีการระบุให้เพิ่มความคุ้มครองแบตเตอรี่โดยคำนวณค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน โดยในปีแรกจะคุ้มครอง 100% ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทประกันคิดค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งานร่วมด้วยเมื่อมีการพิจารณาให้ความคุ้มครอง รวมถึงการชดใช้สินไหม โดยอัตราการชดเชยค่าสินไหมจะเป็นไปตามรายละเอียด ดังนี้
อายุการใช้งานแบตเตอรี่
-ไม่เกิน 1 ปี ความคุ้มครอง 100%
-ไม่เกิน 2 ปี ความคุ้มครอง 90%
-ไม่เกิน 3 ปี ความคุ้มครอง 80%
-ไม่เกิน 4 ปี ความคุ้มครอง 70%
-ไม่เกิน 5 ปี ความคุ้มครอง 60%
-มากกว่า 5 ปีขึ้นไป ความคุ้มครอง 50%
ในกรณีที่รถยนต์ไฟฟ้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือ ได้รับความเสียหายจนต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ บริษัทประกันรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการพิจารณาอนุมัติเคลมที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด
นอกจากนี้ ผู้เอาประกันก็จะได้สิทธิเป็นเจ้าของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เมื่อมีการออกค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย เช่น หากใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้าปีที่ 2 แล้วเกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความคุ้มครองที่ 90% เท่ากับว่า หากต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าลูกใหม่ ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายอีก 10% ที่เหลือ ซึ่งเมื่อบริษัทประกันภัยนำแบตเตอรี่ไปขายต่อและได้เงินมา ผู้เอาประกันจะได้รับเงิน 10% ที่ออกไปก่อนหน้าด้วยเช่นกัน
4.คุ้มครองเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลแบบติดผนัง (Wall Charger)
ผู้เอาประกันสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและขณะกำลังชาร์จ โดยเบี้ยประกันจะคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 0.035%–3.5% ของมูลค่าเครื่องชาร์จ หรือเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด
ที่มา : ซันเดย์
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส