ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

เพื่อให้ ‘สิทธิประกันตัว’ กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ต้องอดอาหารประท้วงอีกกี่ครั้ง?

Apr 3, 2024 การเงิน

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังเดินเกมรุก หวังให้ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council; UNHRC) ในวาระ ค.ศ. 2025-2027 แต่หากเหลียวมองกลับมาที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยจะพบว่า ไทยยังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน

หนึ่งในปมปัญหาสำคัญของไทย คือ ‘คดีการเมือง’ การดำเนินคดีกับประชาชนที่มีความคิดแตกต่างไปจากผู้มีอำนาจ หรือการดำเนินคดีกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 8 ปี หลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้ หากนับรวมนับรวมคดีการเมืองจากความขัดแย้งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า ไทยมีคดีการเมืองรวมแล้วหลายพันคดี

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหากรณีเรื่องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว หรือสิทธิประกันตัว ในคดีทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมา มีบรรดาผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังในคดีการเมืองตัดสินใจ ‘อดอาหารประท้วง’ ไม่น้อยกว่า 17 ครั้ง เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว ทั้งที่สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองทั้งในกติกาสากลระหว่างประเทศ ในรัฐธรรมนูญ และในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทย

โดยกรณีล่าสุดที่มีการอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว คือ กรณีของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวังที่เลือกอดอาหารและน้ำประท้วง (dry hunger strike) ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่มีการพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เพื่อเรียกร้องให้ถอด เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกวุฒิสภาออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ และกรณีละเมิดอำนาจศาล จากการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลเมื่อ 19 ตุลาคม 2566

 

‘สิทธิประกันตัว’ สิทธิที่ได้มายากและพรากได้ง่ายในคดีการเมือง

สิทธิในการประกันตัว หรือในภาษากฎหมาย คือ ‘การปล่อยตัวชั่วคราว’ นับว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา โดยสิทธิดังกล่าวมีรากฐานมาจากหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่า ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ดังนั้น ผู้ต้องหาต้องได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด และจะคุมขังเสมือนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้

สิทธิในการประกันตัวถูกรับรองไว้ในกฎหมายทั้งไทยและต่างประเทศ ดังต่อไปนี้ 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน     

  • ข้อที่ 11-1 ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี

กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง     

  • ข้อ 9 บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการและจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่า จะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่า จะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษา

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560    

  • มาตรา 29 วรรคสอง ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
  • มาตรา 29 วรรคสาม การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา    

  • มาตรา 107 เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยพึ่งได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว....

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสิทธิประกันตัวจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่ยังมีผู้ต้องหาในคดีการเมืองอีกอย่างน้อย 26 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่กระบวนการพิจารณาคดียังไม่ถึงที่สุด หรือเป็นกรณีที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด โดยใน 26 คนนี้ มีอย่างน้อย 17 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

 

เหตุผลที่ศาลมักจะใช้ปฏิเสธการให้สิทธิในการประกันตัว แบ่งออกเป็นสองกรณีหลัก ได้แก่

หนึ่ง ‘กลัวจำเลยจะหลบหนี’ ตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 108/1 (1) ซึ่งหลายคดีมีความย้อนแย้ง เนื่องจากผู้ต้องหาในคดี 112 หลายคดีไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนี และยังไปศาลสม่ำเสมอ แต่กลับไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว เช่น คดีของโอภาส ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ปากกาเมจิกเขียนข้อความในผนังห้องน้ำ ต้องถูกคุมขังโดยไม่รับสิทธิประกันตัว แม้ครอบครัวจะยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็น โฉนดที่ดินมูลค่า 2.5 ล้านบาท แต่ศาลก็ไม่อนุญาต

หรือคดีของ อานนท์ นำภา ในฐานะของจำเลยในคดี 112 ที่มาร่วมกระบวนการพิจารณาคดีอย่างสม่ำเสมอ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจน แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี 

สอง ‘กลัวก่อเหตุอันตรายประเภทอื่น หรือกระทำความผิดซ้ำ’ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 108/1 (3) ยกตัวอย่างเช่น คดีปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร หรือการชุมนุมของกลุ่ม Mobfest ศาลให้เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวว่า 

"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิม หลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก"

นอกจากนี้ ยังพบแนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการประกันตัวในคดีการเมือง โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขพิเศษในการประกันตัวและใช้เป็นเหตุในการเพิกถอนสิทธิดังกล่าว เช่น การห้ามจำเลยกระทําการใดในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการห้ามเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นได้ในบ้านเมือง ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่มีขอบเขตกว้างขวางและไม่เคยปรากฏข้อความในลักษณะเดียวกันในกฎหมายใดมาก่อน อีกทั้ง ยังเป็นการวางเงื่อนไขในการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพในอนาคต 

โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวถูกนำมาใช้กับกรณีล่าสุดของ  บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่โดนคดีมาตรา 112 จากการทำโพลขบวนเสด็จ และถูกใช้เป็นเหตุในการถอนประกัน เนื่องจากศาลเห็นว่า บุ้งกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว 

จะเห็นได้ว่า สิทธิประกันตัวของผู้ต้องหาในคดีการเมืองนอกจากจะเป็นสิทธิที่ได้มาโดยยากแล้ว มันยังเป็นสิทธิที่เปราะบางและพร้อมถูกพรากไปได้โดยง่าย

 

‘อดอาหารประท้วง’ ปฏิบัติการตอบโต้การคุมขังที่ไม่ชอบธรรม

การอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ เป็นหนึ่งในปฏิบัติการทางการเมืองที่พบเห็นได้ทั่วโลก แม้แต่ในประเทศไทยมีการอดหารประท้วงหลายต่อหลายครั้ง เช่น กรณี ฉลาด วรฉัตร ประกาศอดข้าวประท้วงหน้ารัฐสภาเรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ทั้งนี้ การอดอาหารเพื่อประท้วงได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องสิทธิประกันตัวอีกครั้ง จากคดีของ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 เมื่อปี 2559 จากการแชร์บทความข่าวของสำนักข่าว BBC ไทย โดยเขาได้อดอาหารเป็นเวลา 12 วัน 

ต่อมาในปี 2563 ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการออกแถลงการณ์ระบุว่า จะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา หรือนัยหนึ่งคือ การนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง หลังเกิดการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎร  ซึ่งผลพวงของการนำมาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง ก็ทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นที่น่าหวั่นวิตก โดยเฉพาะการไม่ให้สิทธิในการประกันตัวกับบรรดาแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองโดยเฉพาะบรรดาแกนนำการเคลื่อนไหวจะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำปฏิบัติการอดอาหารประท้วงกลับมาใช้อีกครั้ง 

จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการอดอาหารเพื่อประท้วง อย่างน้อย 21 ครั้ง ดังนี้

  • บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม อดอาหาร 2 ครั้ง ครั้งแรก 64 วัน (ตั้งแต่ 2 มิถุนายน - 4 สิงหาคม  2565) และครั้งล่าสุด อดอาหาร ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2567
  • ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ อดอาหาร 64 วัน (ตั้งแต่ 2 มิถุนายน-4 สิงหาคม  2565)
  • เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ อดอาหาร 58 วัน (ตั้งแต่ 15 มีนาคม-11 พฤษภาคม 2564)
  • ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อดอาหาร 2 ครั้ง ครั้งแรก อดอาหาร 37 วัน (ตั้งแต่ 20 เมษายน-26 พฤษภาคม 2565) และครั้งที่สอง อดอาหาร 52 วัน (ตั้งแต่ 18 มกราคม-11 มีนาคม 2566)

  • แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ อดอาหาร 52 วัน (ตั้งแต่ 18 มกราคม-11 มีนาคม 2566)

  • เวหา แสนชนะศึก อดอาหาร 49 วัน (ตั้งแต่ 23 สิงหาคม-10 ตุลาคม 2566)
  • น้ำ-วารุณี อดอาหาร 46 วัน (ตั้งแต่ 21 สิงหาคม-6 ตุลาคม 2566)
  • ฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี อดอาหาร 43 วัน จาก 3 ครั้ง (ตั้งแต่ 18 มีนาคม-5 เมษายน 2564, 26 เมษายน-10 พฤษภาคม 2564 และ 15-23 สิงหาคม 2564)
  • คิม-ธีรวิทย์ อดอาหาร 39 วัน (ตั้งแต่ 18 มิถุนายน-26 กรกฎาคม 2565)
  • รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อดอาหาร 37 วัน (ตั้งแต่ 31 มีนาคม-6 พฤษภาคม 2564)
  • แฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อดอาหาร 22 วัน (ตั้งแต่ 24 เมษายน-15 พฤษภาคม 2564)
  • เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง อดอาหาร 20 วัน (ตั้งแต่ 5-24 พฤษภาคม 2565)
  • แซม สาแมท อดอาหาร 15 วัน รวม 2 ครั้ง (ตั้งแต่ 15-23 สิงหาคม 2564 และ 17-22 มิถุนายน 2565)
  • ฮิวโก้-สิริชัย นาถึง อดอาหาร 9 วัน (ตั้งแต่ 15-23 สิงหาคม 2564)
  • ภูมิ หัวลำโพง อดอาหาร 6 วัน (ตั้งแต่ 15-20 พฤศจิกายน 2566)
  • ตี้-วรรณวลี ธรรมสัตยา อดอาหาร 5 วัน (ตั้งแต่ 3-7 พฤษภาคม 2564)
  • พรชัย อดอาหาร 4 วัน (ตั้งแต่ 26-29 มีนาคม 2564)

จากการอดอาหารประท้วงตั้งแต่หลังปี 2563 มีข้อสังเกตว่า การอดอาหารประท้วงทำให้ผู้ปฏิบัติการทางการเมืองได้รับสิทธิในการประกันตัวกลับคืนมาเป็นส่วนใหญ่ แต่แทบทุกครั้ง ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองจะต้องมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอจนกระทบต่อการใช้ชีวิตเสียก่อนจึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น กรณี เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ได้รับการประกันตัวภายหลังต้องถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยพบว่ามีการขับถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารที่ร่างกายย่อยออกมา หรือ กรณีของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ที่ศาลให้ประกันตัวหลังพบว่า อาการป่วยของทั้งคู่เข้าขั้นวิกฤติอาจมีอันตรายถึงชีวิต เป็นต้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ในกรณีของ บุ้ง-เนติพร ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า บุ้งมีภาวะตับอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว

 

‘นิรโทษกรรม’ ก้าวแรกของการคืนความปกติ

จากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และคดีการเมือง ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังการรัฐประหาร คสช. ทำให้บรรดาพรรคการเมืองและภาคประชาชนต่างผลักดันเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อเป็นทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง 

โดยการนิรโทษกรรม หมายถึง การลบล้างคดีความหรือความผิดของบุคคลที่เข้าร่วมการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพ หรือแสดงความคิดเห็น ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

ในแต่ละร่างกฎหมายมีความแตกต่างกันอย่างน้อยสี่ประเด็นดังต่อไปนี้

 

ทั้งนี้ จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ถูกเสนอ มีเพียง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ถูกเสนอโดยภาคประชาชนเท่านั้น ที่มีการกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรม ในขณะที่กฎหมายอื่นๆ เช่น ของพรรคก้าวไกล ยังไม่มีความชัดเจน แต่ใช้กลไกของคณะกรรมการวินิจฉัยในการชี้ขาด ส่วนข้อเสนอจากพรรครวมไทยสร้างชาติ มีการระบุอย่างชัดเจนว่า มีข้อยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 

อย่างไรก็ดี การที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมจะผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่นั้น จำเป็นต้องเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ การที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมจะผ่านสภาอย่างแน่นอน ต่อเมื่อมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่มีอยู่ หรือ ประมาณ 251 เสียง ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า ท่าทีของรัฐบาลซึ่งกุมเสียงข้างมากของสภาว่าจะมีมติต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส