ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

We Need to Talk About อานนท์ ชายผู้นำพาให้คนเท่ากัน

Apr 3, 2024 การศึกษา

นี่คือถ้อยคำเรื่องราวเกี่ยวกับ ทนายอานนท์ นำภา ผ่านการบอกเล่าจากปากคำของเพื่อนๆ และแม่ ซึ่งล้วนเป็นคนที่มีความรัก และผูกพันกับอานนท์

แม้ อานนท์ นำภา จะออกมาเรียกร้องให้คนเท่ากัน แต่กลับกลายเป็นว่าเขาได้เป็นนักโทษทางความคิดแทน 

อานนท์ ถูกคุมขังในเรือนจำมาหลายต่อหลายครั้ง และยังคงไม่ได้รับความยุติธรรมที่เขาพยายามเรียกร้องให้สังคมเรื่อยมาจนทุกวันนี้ แต่การสื่อสารที่ อานนท์ เคยได้ดันเพดานไว้ ตั้งแต่ตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นทรงพลังอย่างมากสำหรับคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา สิ่งที่เขาขับเคลื่อน ทำให้ผู้คนกล้าฝันถึงสังคมที่คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิ และมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน

หากสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรม เท่าเทียมแท้จริง ประเทศไทยน่าจะพอมีหนทางให้พื้นที่การถกเถียงเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในสังคมเปิดกว้างมากพอ และนำไปสู่การแก้ไขอย่างตรงไปตรงมาได้มากขึ้นเรื่อยๆ 

โมงยามแห่งความหวังเริ่มขึ้นแล้ว แม้ว่าใครหลายคนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับอานนท์ และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีโดยรัฐ แต่นี่คือสิ่งที่คนไทยทุกคนจำเป็นต้องขบคิด และพูดถึง เพื่อสร้างสังคมที่ผู้คนเคารพในลมหายใจของคนทุกคนอย่างเท่าเทียม

นี่คือคำบอกเล่าจากคนใกล้ตัวอานนท์ 4 คน ได้แก่ ไมค์-ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์, ทนายรอน-นรเศรษฐ์ นาหนองตูม, ทนายแอน-ภาวิณี ชุมศรี และแม่มาลัย นำภา 

จากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์

ไมค์-ภาณุพงศ์ มะณีวงศ์
นักเคลื่อนไหวทางการเมือง

“การที่อานนท์เขียนจดหมายถึงลูก คือการสื่อสารว่า เขาไม่ใช่นักโทษ มีจดหมายหนึ่งที่ทำให้ผมร้องไห้ และสัมผัสใจอานนท์เสมอมาคือ พ่อไม่ได้เป็นนักโทษ พ่อไม่ได้เป็นคนที่ยอมรับ แต่พ่อกำลังสู้อยู่ในอีกสถานะหนึ่ง”

“เขาพยายามสอนลูกให้เข้าใจความบิดเบี้ยวของสังคม ต่อสู้ให้อนาคตของลูกดีขึ้น ลูกคือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ แต่ทั้งหมดในหัวใจอานนท์คือเรื่องของระบบที่บิดเบี้ยวในสังคม และความยุติธรรมที่พวกเราเรียกร้องให้ได้มา” 

จากพี่ชายถึงน้องชาย

ทนายรอน-นรเศรษฐ์ นาหนองตูม
ทนายความ

“สิ่งที่ผมได้รับการถ่ายทอดมาจากอานนท์ก็คือ ถ้าเราไม่ผิด ต้องสู้ไม่ถอย ทุกครั้งที่ว่าความกับเขา ไม่ว่าจะตอนนี้ที่ผมเป็นทนายความให้เขา อะไรก็ตามที่เราไม่ผิด เราจะสู้อย่างเต็มที่”  

“ถ้าศาลบอกว่าคำถามนี้ไม่ให้ถาม หรือบัญชีพยานนี้ไม่ให้ยื่น หรืออะไรก็ตามแต่ที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เราสู้จนถึงที่สุด เขียนคำร้องคัดค้านขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา หรือสู้ในกระบวนการอื่นในช่องทางกฎหมายที่เราทำได้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับมาจากอานนท์เต็มๆ เพราะเขาจะบอกเสมอว่า ก็เราไม่ผิดนี่ จะกลัวอะไร” 

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พอเราและอานนท์ต่อสู้ มันไม่มีอะไรมาทำร้ายเราได้ เพราะความถูกต้องมันจะปกป้องเรา”

จากเพื่อนทนายถึงเพื่อนทนาย

ทนายแอน-ภาวิณี ชุมศรี
ทนายความ

“อานนท์รู้ว่าเขาจะเจออะไร แต่เขายังต่อสู้ เราเป็นใครจะไปบอกว่า อย่าทำเลย เรายอมรับในบทบาทเขามาตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ ทำความเข้าใจ และเติบโตไปกับเขา” 

“เขาบอกว่า ผมอยู่เรือนจำ ผมว่าความได้ คุณเบิกผมมาเลย เดี๋ยวผมทำหน้าที่ทนายความ แม้จะเป็นนักโทษ แต่เขาว่าความได้ และหลายคดีที่ใส่ชุดนักโทษว่าความ ก็พิสูจน์แล้วว่าเขาว่าความได้ดีมาก จนสงสัยว่าอานนท์เตรียมสำนวนตอนไหน” 

“แม้เขาจะอยู่ในสถานะนักโทษ แต่เราต้องไม่คิดว่าอานนท์จะไหวไหม หลายๆ ปีที่เราเติบโตกันมา เราไม่ได้จะยอมแพ้ แต่ภายใต้ขีดจำกัดบริบทสังคมแบบนี้ เราจะทำยังไงให้มันไปต่อได้”

จากแม่สู่ลูก

แม่มาลัย นำภา
แม่ทนายอานนท์

“อานนท์บอกแม่ว่า ผมอยากเรียนทนายเพื่อจะได้มาช่วยคนที่เขาเดือดร้อน”

“แม่ไม่ได้เป็นนักสู้เหมือนเขา แม่ไม่ได้แข็งแกร่ง แม่ก็อ่อนแอเหมือนกันนะ บางครั้งแม่ก็แอบร้องไห้ บางทีรดน้ำผัก น้ำตามันก็ไหลออกมา เวลาทำกับข้าว คิดถึงลูก แม่ก็น้ำตาไหลออก แต่อานนท์เข้มแข็ง แม่ไม่เคยเห็นน้ำตาอานนท์เลย”

“ถ้าอานนท์ไม่โดนจับ บ้านเรามันก็อบอุ่น และมีความสุขดี” 

รับชมบทสัมภาษณ์วิดีโอ


ภาพถ่าย : จิตติมา หลักบุญ

No Justice, No Love ‘รัก’ ในยุติธรรม 


ซีรีส์เนื้อหาเดือนกุมภาพันธุ์ที่ถ่ายทอดความรักความสัมพันธ์อันเชื่อมโยงแนบชิดกับเรื่องราวความยุติธรรมในสังคมไทย 
ติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ทาง Thairath Plus

 

 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส