ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

ฟุตบอล ‘กระชับมิตร’ พรรคร่วมรัฐบาล VS สื่อมวลชน ในช่วงที่คนถามหาเสรีภาพสื่อ

Apr 3, 2024 การศึกษา

การเตะบอลกระชับมิตรของพรรคร่วมรัฐบาลและสื่อมวลชน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สนามฟุตบอลอัลไพน์ ด้วยผลคะแนน 7 ต่อ 7 เสมอกัน กิจกรรมกระชับมิตรที่ดูสร้างสรรค์และได้ออกกำลังกายนี้ เป็นอีกกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไทยมาหลายยุคหลายสมัย 

ก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็เคยจัดงานเตะบอลกระชับมิตรของพรรคเพื่อไทยร่วมกับสื่อมวลชนมาก่อนเมื่อปีที่แล้ว และตอบคำถามที่ว่ากีฬาฟุตบอลกับการเมืองมีความเหมือนและความแตกต่างอย่างไรว่า 

“การเมืองไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตาม เรามีหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน สส. คณะกรรมการบริหาร หรือแม้กระทั่งคู่แข่งก็ตามที ถ้าเกิดจะไปคนเดียวมันไปไม่ได้ มันต้องไปด้วยกันเป็นทีม” 

การวิ่งเตะลูกบอลกลมๆ บนสนามและความร่วมมือของคนในทีมเพื่อพาบอลเข้าประตู เป็นหนึ่งในวิธีที่สร้างความสามัคคีได้อย่างดี และทำให้นักเตะมีโอกาสได้ทำความรู้จักและพูดคุยกันมากขึ้น 

การเตะบอล ‘กระชับมิตร’ ของพรรคร่วมรัฐบาลและสื่อมวลชนในครั้งนี้ก็อาจเป็นเช่นนั้น เพียงแต่มันดันเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จับกุมผู้สื่อข่าวเพียงไม่นาน จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าบอลลูกไหนกันที่จะพาเราไปถึงประตูแห่ง ‘เสรีภาพสื่อมวลชน’ ได้

 

นัดเตะบอลกระชับมิตรในยุคต่างๆ 

การเตะบอลกระชับมิตรมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นคือการเล่นฟุตบอลช่วงพักรบ ที่ชุมชนเฟรอแล็งเกียง (Frélinghien) ประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์ที่น่าจดจำนี้ยังได้รับการรำลึกถึงในวันครบรอบ 100 ปีของการพักรบ ทั้งยังมีการสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นทหารจับมือกันก่อนเล่นฟุตบอลที่มีชื่อว่า All Together Now ไว้ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ และอนุสาวรีย์รูปลูกฟุตบอลบนซากกระบอกปืนใหญ่ไว้ที่เมืองแซ็งอีวง (Saint Yvon) ประเทศเบลเยียม เพื่อเป็นเกียรติแก่การเล่นฟุตบอลกระชับมิตรที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 

เมื่อย้อนกลับมาที่ไทย ฟุตบอลกระชับมิตรก็เคยเกิดขึ้นในหลายยุคสมัย และเป็นส่วนเล็กๆ ที่บันทึกความทรงจำทางการเมืองไทยเช่นกัน เช่น ในสมัยของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นชื่อว่าชอบกีฬาฟุตบอล จนถึงขั้นตัดสินใจซื้อทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ก็มีการใช้ฟุตบอลกระชับมิตรเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญในการสานสัมพันธ์กับพันธมิตรต่างๆ ด้วย 

การเตะบอลกลายเป็นที่จับตาทางการเมืองมากขึ้น จากการจัดงานฟุตบอลกระชับมิตรระหว่าง สส.เสื้อแดงกับ สส.กัมพูชา เมื่อปี 2554 โดยมีข่าวลือว่าทักษิณจะเดินทางไปเข้าร่วมด้วย หลังจากลี้ภัยไปเมื่อปี 2551 แต่ความจริงไม่ได้ไปเข้าร่วม ซึ่งในขณะนั้นมี สส.เสื้อแดง และแกนนำเสื้อแดงที่ติดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ อาทิ จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง, นิสิต สินธุไพร, ขวัญชัย ไพรพนา, วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, ยศวริศ ชูกล่อม เป็นต้น

การเตะฟุตบอลกระชับมิตรสมัยของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการแข่งระหว่างรัฐบาลไทย กับคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยกว่า 30 ประเทศ ที่สนามฟุตบอลคริสตัลปาร์ค เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552  

ต่อมาในสมัยของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยมีการจัดแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร ระหว่างสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กับกลุ่มผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่สนามฟุตบอล กรีนฟิลด์เอฟซี เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ นอกจากนี้ก็มีนัดการแข่งขันสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กับมติชนด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลยในคดีจำนำข้าว โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 

ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2562 กลุ่ม New Dem สมาชิกคนรุ่นใหม่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ชวนพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมเตะบอลเช่นกัน ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเกียน พรรคเสรีรวมไทย จนมีการใช้แฮชแท็ก #เราไม่ท้าต่อยแต่เราท้าเตะ ถึงฟุตบอลแมตช์นี้ด้วย

ท้ายที่สุด พรรคอนาคตใหม่ก็ถอนตัวไม่ร่วมเตะฟุตบอลแมตช์ดังกล่าว เพราะมีพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมด้วย และพรรคอนาคตใหม่ต้องการยืนยันว่ามีนโยบายไม่เอาการสืบทอดอำนาจ คสช. สำหรับพรรคเพื่อไทย กลุ่ม Next Gen พรรคเพื่อไทยก็ออกมาปฏิเสธไม่เข้าร่วม และตามมาด้วยพรรคอื่นๆ ที่ถอนตัวไปตามๆ กัน 

กระทั่งในยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการสนับสนุนเรื่องการเล่นกีฬาหลายประเภท รวมถึงกีฬาเตะบอล แต่ไม่เคยมีการเตะกระชับมิตรกับพรรคร่วมรัฐบาลใดๆ แต่จะเลือกเตะบอลกระชับมิตรตามโอกาสต่างๆ เช่น การเตะตะกร้อกับประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ 

 

กระชับมิตร 2567 ในช่วงที่คนถามหาเสรีภาพสื่อ

ฟุตบอลกระชับมิตรปีนี้ นำโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ธนกร วังบุญคงชนะ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ซูการ์โน มะทา สส.พรรคประชาชาติ และ จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ในขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ลงเล่น เนื่องจากรู้สึกเจ็บสะโพก ส่วน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ร่วมพูดคุยและชมการแข่งขัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เข้าร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย แต่มีการพบเห็น ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมงานเลี้ยงอาหารที่จัดขึ้นหลังจากการเตะบอลกระชับมิตรเพียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลกระชับมิตรรอบนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้สื่อข่าวในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ กับ พ.ร.บ.ความสะอาด เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลายคนออกมาทวงถามหาเสรีภาพของสื่อ เนื่องจากเป็นสิ่งที่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนเช่นกัน

นายกฯ เศรษฐาเคยกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลนี้ให้ความยุติธรรมในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อพอสมควร จากที่ท่านเห็น 5-6 เดือนที่ตนทำงานมา มีอะไรก็ตอบ ให้เกียรติซึ่งกันและกันตลอดเวลา ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อฯ และเชื่อว่ารัฐบาลนี้รัฐมนตรีทุกท่านให้ความสำคัญและให้เกียรติซึ่งกันและกันมาโดยตลอด

 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส