ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

ไม่ต้องเลือก ‘โทษอาญา’ หรือ ‘รับการบำบัด’ ภาคประชาสังคมเสนอ สปสช. แจกชุดบริการ Harm Reduction เป็นทางเลือกแก้ปัญหายาเสพติด

Apr 3, 2024 การศึกษา

วิธีจัดการปัญหายาเสพติดภายใต้ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (ฉบับล่าสุด) คือ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ค้า ผิดตามกฎหมายตามเดิม ขณะที่ผู้เสพมีทางเลือกระหว่างถูกดำเนินคดีมีโทษจำคุกตามปกติ หรือไม่ถูกดำเนินคดี แต่ต้องกลายเป็นผู้ป่วย มีคำถามว่า วิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติดดังกล่าวมาถูกทางแล้วหรือยัง

แต่ในเมื่อรัฐบาลเลือกเดินตามวิธีการดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การหาทางจำแนกระหว่างผู้ค้ากับผู้เสพ เพื่อแยกผู้เสพให้กลายเป็นผู้ป่วยเพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามขั้นตอนของกฎหมาย

หลังยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 มีการออกกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ที่น่าสนใจคือ แอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม และเมทแอมเฟตามีน มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม หรือในกรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม ให้ถือเป็นผู้เสพ

นั่นเท่ากับว่า ผู้ถือครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาไอซ์ไม่เกิน 5 หน่วย ให้ถือเป็นผู้เสพ 

เดิมทีมีความพยายามตั้งแต่ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (2562-2566) โดยเสนอให้ผู้ถือครองยาบ้า 1 เม็ดเป็นผู้เสพ หากมากกว่านั้นจะถือว่าเป็นผู้ค้า แต่มีเสียงท้วงติงประกอบกับเป็นช่วงปลายรัฐบาล แนวคิดดังกล่าวจึงไม่เกิดขึ้น

 

เสียงต่อต้านครอบครองยาบ้าได้ 5 เม็ด และคำโต้แย้งจากผู้ถือกฎหมาย

กฎกระทรวงสาธารณสุขมียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ให้ถือเป็นผู้เสพ ทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากสังคม โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดีย ทำนองว่าเปิดโอกาสให้คนมียาบ้าและเสพยาได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ผิดกฎหมาย และเข้าใจไปว่าเป็นช่องโหว่ให้สามารถจำหน่ายยาบ้าในปริมาณไม่เกิน 5 เม็ดได้ จึงมีการโจมตีรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง อาทิ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แถลงข่าวมาตรการรองรับหลังการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าว

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวถึงกระแสความเข้าใจที่ว่าต่อไปนี้การเสพยาเสพติดไม่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ว่า การเสพยาเสพติดให้โทษ โดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีน หากไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด คือ 5 เม็ด และไม่มีพฤติการณ์แวดล้อมที่ระบุว่าเป็นผู้ค้า ให้ถือเป็นผู้เสพ ต้องเข้ารับการบำบัด แต่ถ้าเชื่อมโยงได้ว่าเป็นผู้ค้าแม้เพียง 1 เม็ด ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยผู้ที่มียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัดให้หาย แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้นั้น 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ถ้าผู้ครอบครองไม่สมัครใจรับการบำบัดก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองเพื่อเสพ มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

“หากพิสูจน์ได้ว่าครอบครองเพื่อขาย ไม่ว่าจะกี่เม็ด ต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ค้า”

พลตำรวจโทภาณุรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีตัวเลขผู้เสพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ประมาณ 530,000 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสังคมถึง 32,000 คน นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ นำผู้เสพ 32,000 คน เข้ามาสู่การบำบัดให้ได้ 

จากข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ เท่ากับว่ารัฐบาลมีวิธีรับมือผู้ใช้สารเสพติด 2 ทาง คือ การดำเนินคดีตามกฎหมาย กับการไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ผู้ใช้สารเสพติดต้องยอมรับสถานะ ‘ผู้ป่วย’ และเข้ารับการบำบัดตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือ ‘บังคับบำบัด’ ขณะที่ความเข้าใจว่าการเสพยาไม่มีความผิดตามกฎหมายคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

 

สู่ทางเลือกอื่นของการแก้ปัญหายาเสพติด

การแก้ไขปัญหายาเสพติดกระแสหลักที่ประเทศไทยรับรู้และได้รับการปฏิบัติตามที่ผ่านมาไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่ยังมีทางเลือกอื่นที่ถูกจัดทำขึ้นและนำมาพัฒนาต่อยอด

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านสารเสพติด ประกอบด้วย มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ (FAR) มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เครือข่ายสุขภาพและโอกาส (HON) และมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และตัวแทนผู้ใช้สารเสพติด ยื่นข้อเสนอเพื่อผลักดันเชิงนโยบายด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) ที่อยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน ต่อ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นายแพทย์ชลน่าน พูดคุยและซักถามรายละเอียดจากตัวแทนภาคประชาสังคมฯ และตัวแทนผู้ใช้สารเสพติด พร้อมรับหนังสือข้อเสนอและคำแนะนำ ก่อนเข้าห้องประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ

ข้อเสนอและคำแนะนำดังกล่าวมาจากแนวคิดหลักว่า การจัดการปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการทางกฎหมายที่รุนแรง เพื่อลงโทษทางอาญากับผู้เสพ และการบังคับบำบัดผู้เสพทุกรายไม่ทำให้จำนวนผู้ใช้สารเสพติดในประเทศไทยลดลง แต่มีผลในการสร้างทัศนคติเชิงลบในสังคมต่อสารเสพติดและผู้ใช้สารเสพติด อันรวมถึงทัศนคติเชิงลบในกลุ่มผู้ให้บริการทางการแพทย์ ส่งผลร้ายแรงต่อภาวะปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ใช้สารเสพติดและคนรอบข้าง 

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (The United Natons General Assembly Special Session: UNGASS 2016) จึงเรียกร้องให้ทั่วโลกยุติการใช้นโยบายขั้นรุนแรงและการลงโทษทางอาญากับผู้ใช้สารเสพติด และให้นำนโยบายการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) มาใช้ในการจัดบริการทางสุขภาพ บริการทางสังคม และบริการทางกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบเชิงลบ 

เครือข่ายภาคประชาสังคมฯ ยืนยันว่า ‘ผู้เสพ ผู้ติด’ ไม่ใช่อาชญากร และเห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำชุดบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction Service Package) จึงจัดทำข้อเสนอแนะต่อ สปสช. เพื่อนำไปสู่การนำชุดบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. 

 

เปิดข้อเสนอจัดชุดบริการลดอัตราย และขจัดอุปสรรคด้านกฎหมาย

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี 2 ส่วน ประกอบด้วย

การจัดทำชุดบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด

1. ผลักดันให้เกิดชุดสิทธิประโยชน์ Harm Reduction Service Package ที่สามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ ประกอบด้วย 

  • บริการด้านการใช้สารโดยเฉพาะ ได้แก่ การให้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาสะอาด การจัดการกรณีการใช้สารเสพติดเกินขนาดด้วยยานาล็อคโซน (สารแก้พิษจากการใช้ยาเกินขนาด) ที่เข้าถึงได้ในชุมชน การจ่ายเมทาโดน/บูพรีนอร์ฟีน (สารลดอาการถอนยาหรืออยากยา) ระยะยาวในชุมชน การสนับสนุนการลดและเลิกใช้สารโดยสมัครใจ การสร้างความรอบรู้และทักษะในการใช้สารอย่างปลอดภัย
  • บริการด้านสุขภาวะทางเพศ ได้แก่ การตรวจและรักษา HIV, HCV, HBV การป้องกัน HIV ด้วยยา PrEP/PEP การฉีดวัคซีนป้องกัน HBV บริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น
  • บริการด้านสุขภาวะทางจิต ได้แก่ การคัดกรองภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการฆ่าตัวตาย พร้อมให้การจัดการเบื้องต้น และการส่งต่อ
  • บริการด้านสังคม และด้านกฎหมาย ได้แก่ การคัดกรองการถูกตีตรา ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกละเมิดสิทธิ ในบ้าน สถานศึกษา ที่ทำงาน หรือโดยผู้บังคับใช้กฎหมาย การสนับสนุนช่วยเหลือในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม และการให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิ ฯลฯ

2. ผลักดันให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยสามารถเป็นหน่วยบริการที่ให้บริการเข็มและอุปกรณ์ฉีดยาสะอาด บริการนาล็อคโซน บริการเมทาโดน รวมถึงบริการอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้สารเสพติดสามารถเข้าถึงชุดบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดได้อย่างสะดวกใจ 

 

การขจัดอุปสรรคด้านกฎหมาย นโยบาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

1. ให้ สปสช. จัดทำเวทีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจเรื่องการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด 

2. ผลักดันให้เกิดการรับรองความปลอดภัยของผู้ใช้สารเสพติด ที่เข้าสู่กระบวนการ Harm Reduction จากการถูกจับกุมคุมขัง หรือการเรียกรับผลประโยชน์โดยผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยการออกเอกสารรับรองในรูปแบบ ‘HR Card’ โดยขอให้ สปสช.หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และ ป.ป.ส.

 

ผู้ใช้สารเสพติดทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการบำบัด                       

กุลกานต์ จินตกานนท์ ตัวแทนภาคประชาสังคมผู้ยื่นข้อเสนอต่อ สปสช. กล่าวว่า การออกกฎกระทรวงให้ผู้ใช้ยาต้องเข้ารับการบำบัดส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ยาทุกคน เพราะไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้ยาต้องเข้ารับการบำบัดทั้งหมด การบอกว่าผู้ใช้ยาทุกคนคือผู้ป่วยคือการเหมารวม เพราะไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้ยาจะต้องป่วย

“เขาต้องมีทางเลือก คนใช้ยาดำเนินชีวิตได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น นั่นคือเขาไม่ได้ป่วย แต่คนสมัครใจก็ควรเข้าถึงการบำบัด”

กุลกานต์ ระบุว่า ที่ผ่านมาผู้ใช้ยาหลายคนต้องเสียชีวิตเพราะใช้ยาเกินขนาด เนื่องจากไม่มีทั้งความรู้ในการใช้ยาอย่างปลอดภัย และเข้าไม่ถึงนาล็อคโซนเพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงที ตนเชื่อว่าชุดบริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดที่ต้องการให้ สปสช. จัดทำเป็นชุดสิทธิประโยชน์ จะทำให้ผู้ใช้ยาได้เข้าถึงบริการ และสามารถจัดการตนเอง 

กุลกานต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ใช้สารเสพติดต้องการคือการสนับสนุน ไม่ใช่การลงโทษ 

“ไม่ใช่จับพวกเราไปขัง หรือบังคับบำบัด พยายามทำให้พวกเราหยุดหรือเลิกใช้สาร” 

กุลกานต์ เผยว่า สิ่งที่รัฐต้องทำก่อนที่จะให้เราหยุดใช้สาร คือต้องทำให้พวกเราปลอดภัยก่อน เพราะเมื่อเราปลอดภัย เราจะสามารถใช้ชีวิตได้ คิดถึงอนาคตตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

ไพศาล สุวรรณวงษ์ ผู้ใช้ยาอิสระ กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้ยาไม่โอเคกับการทำ

ให้เราเป็นผู้ป่วย เพราะไม่ใช่ผู้ใช้ยาทุกคนจะติดยา คนใช้มีหลายเฉด อาทิ ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง และจากการศึกษาพบว่ามีผู้ใช้ยาร้อยละ 10 ที่ติดยา และต้องเข้ารับการบำบัด 

ไพศาล กล่าวว่า การบำบัดอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้เลิกใช้ยาได้ แต่ต้องมีการสนับสนุนทางสังคม และเข้าถึงการทำงานถึงจะเลิกยาได้ ทั้งนี้ Harm Reduction จะเป็นประตูบานแรกที่ทำให้ผู้ใช้ยาเข้าถึงบริการต่างๆ ได้

 

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี

สปสช. ขานรับแนวทาง Harm Reduction และขอให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม 

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เห็นด้วยกับหลักการ Harm Reduction เพราะ สปสช. มีหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับบริการที่จำเป็น ดังนั้นบริการใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน สปสช. ก็พร้อมจะสนับสนุนเรื่องที่ภาคประชาสังคมและตัวแทนผู้ใช้สารเสพติดเสนอมา เรายินดีและพร้อมทดลอง เพราะเราเองก็อยากให้สังคมทำความเข้าใจและยอมรับเรื่องการมีอยู่จริงของผู้ใช้ยา 

“วันนี้ถ้าเราใช้นโยบายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดเข้ามาช่วย จะทำให้เห็นจำนวนคนที่ต้องการการดูแล” 

นายแพทย์จเด็จ ระบุว่า เราต้องไม่นำหลักเกณฑ์การเลิกยามาใช้ เพราะถ้าทำแบบนั้นจะไม่ต่างจากการบังคับให้เลิกยา และจะขอให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการจัดบริการด้วย 

“หากจะเริ่มต้น อยากให้ภาคประชาสังคมมาช่วยกันคิดแพ็กเกจชุดบริการ แล้วทดลองจัดบริการร่วมกับภาครัฐ”

 

ชลน่านเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วน สปสช. ให้เสนอชุดบริการเข้ามาได้ในครั้งหน้า

ต่อมา ภาคประชาสังคมที่ดำเนินงานด้านสารเสพติด สรุปประเด็นที่ได้หารือกับ นายแพทย์ชลน่าน และ นายแพทย์จเด็จ ดังนี้

นายแพทย์ชลน่าน ยังเข้าใจว่า Harm Reduction คือการบำบัด ซึ่งผู้ใช้สารทุกคนควรได้รับการบำบัด ภาคประชาสังคมจึงต้องให้การเรียนรู้ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า มีผู้ใช้สารเพียงร้อยละ 10 เป็นผู้ใช้สารที่มีปัญหา และต้องการการบำบัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวิธี Harm Reduction เป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ใช้สารร้อยละ 90 

นายแพทย์จเด็จ ขอให้ภาคประชาสังคมเสนอชุด Harm Reduction Service Package เข้ามาในเดือนหน้า และเห็นด้วยกับการให้ชุมชนขึ้นทะเบียนและลงมือจัดบริการ Harm Reduction โดยต้องการให้มีองค์กรชุมชนที่สามารถจัด Harm Reduction Service Package ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

หนึ่งในผู้ยื่นหนังสือ แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กล่าวถึงการให้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาสะอาดในชุดบริการว่า ตอนนี้ไม่ได้มีใครบอกว่าการแจกเข็มผิดกฎหมาย และถ้า สปสช. ให้เบิกเข็มในชุดสิทธิประโยชน์เมื่อไร ก็จะยืนยันว่าการแจกเข็มไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น ในชุดบริการเราจะเสนอเรื่องการแจกเข็มเข้าไปด้วย 

“ในภาพสาธารณะ สปสช. จะสื่อสารกับสังคมโดยไม่ลงรายละเอียดของชุดบริการก็ได้” แพทย์หญิงนิตยา กล่าวทิ้งท้าย

การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ไม่ได้มีแค่การลงโทษทางอาญาอย่างเดียว แต่มีวิธีทำให้ผู้ใช้สารกลายเป็นผู้ป่วยและส่งไปบำบัด ถือเป็นวิธีก้าวหน้ากว่าในอดีตก็จริง แต่ยังมีวิธีอื่นนอกจากนั้นอีกคือ การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (Harm Reduction) เพื่อให้ผู้ใช้สารเสพติดสามารถดำรงชีวิตได้ และอยู่ร่วมได้ในสังคม ส่วนการเลิกใช้สารเสพติดควรให้อยู่กับความพร้อมของผู้ใช้ยาเป็นหลัก 

กรณีผู้ใช้สารเสพติดที่ติดยาหรืออยู่ในภาวะพึ่งพิงยามีอยู่ก็จริง แต่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใช้ยาทั้งหมด จากตัวเลขของภาคประชาสังคมมีร้อยละ 10 ส่วนตัวเลขของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในจำนวนผู้เสพ 530,000 คน มีกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสังคม 32,000 คน หรือร้อยละ 6 เท่านั้น ที่ต้องรับการบำบัด

ฉะนั้นการเริ่มต้นจัดการปัญหาผู้ใช้สารเสพติด ด้วยวิธี Harm Reduction ต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจ เพื่อรับฟัง เรียนรู้ และทำความเข้าใจ ซึ่งวิธีการนี้อาจขัดแย้งกับการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของประเทศไทยที่หลายคนเคยชิน คือ การใช้มาตรการทางกฎหมาย และการใช้ความรุนแรง จนถึงขั้นทำสงครามกับยาเสพติดมาแล้ว 

แต่มีคำถามว่า ในเมื่อวิธีการเดิมไม่ได้ทำให้ยาเสพติดและผู้เสพหมดไป การทดลองวิธีอื่นบ้างอาจเป็นทางออกของสังคมก็ได้

 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส