มันควรจะเป็นเช้าวันอาทิตย์ปกติ ที่หลายๆ คนหยุดงาน ใช้วันหยุดธรรมดากับคนพิเศษ แต่สำหรับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร วันนี้คือวันพิเศษ คงเหมือนฝันที่เป็นจริง ที่ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าครอบครัว ในสถานที่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ หลังจากหายหน้าหายตาจากเมืองไทย ต้องไปพบกันพร้อมหน้าครอบครัวบนดินแดนอื่นเกือบ 20 ปี
หลังจากนี้ ทักษิณ ในฐานะผู้ถูกพักโทษ จะสวมบทบาทเป็นคุณตา คุณปู่ เลี้ยงหลานเหมือนที่ปรารภไว้หลายคราว หรือจะเอื้อมมือข้างหนึ่งไปแตะงานการเมืองที่ตัวเองรักและถนัด ก็สุดแล้วแต่แต่จะการตัดสินระดับปัจเจกของทักษิณเอง
ทักษิณ ชินวัตร ในวันเดินทางออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน
มันควรจะเป็นเช้าวันอาทิตย์ปกติ แต่บทสนทนาของใครหลายคน ทั้งโต๊ะอาหาร วงกาแฟ วงเหล้าก็ใช่ หรือโซเชียลมีเดีย ยังคงบ่นถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้น และแน่นอน ชื่อของอดีตนายกฯ เป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาเหล่านั้น
เท้าความไปกลางปีที่แล้ว ความไม่ปกตินี้ยืดต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 2566 ทักษิณโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งสัญญาณถึงความต้องการกลับบ้านหลายต่อหลายครั้ง ด้านพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าชนะเลือกตั้งด้วยแลนด์สไลด์ ชาวบ้านร้านตลาดก็ไพล่คิดกันไปว่า โจทย์ใหญ่ของเพื่อไทย ต้องมีการปูทางให้เจ้าของพรรคตัวจริงได้กลับบ้านอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย
มันเป็นเรื่องที่บางคนวิเคราะห์ จินตนาการ หรือเอาชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ต่างๆ มาประกอบเป็นเรื่องได้ว่า ‘ดีลลับ’ นั้นมีจริง ไม่ว่าจะเป็นการย้ายขั้วของพรรคเพื่อไทย ไปจับมือกับพรรคผู้เคยทำรัฐประหาร จนนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ต้องกลืนน้ำลายตัวเองอึกใหญ่ แล้วลาออกจำตำแหน่งหัวหน้าพรรค
มันเป็นเรื่องที่บางคนวิเคราะห์ จินตนาการ หรือเอาชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ต่างๆ มาประกอบเป็นเรื่องได้ว่า การทิ้งก้าวไกลด้วยข้อกล่าวหาแก้ไขมาตรา 112 ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของดีลลับที่ว่าก็ได้ (มั้ง) เพราะนอกจากจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ความพยายามแก้ไขมาตรา 112 ก็ยังตามราวีหลอกหลอนเฆี่ยนตีพรรคก้าวไกล จนหลายคนคิดฉากต่อไปได้แล้วว่า พรรคส้มภาคสองคงถึงตอนอวสานอีกคำรบ ไม่ช้าก็เร็วหลังจากนี้
มันเป็นเรื่องที่บางคนวิเคราะห์ จินตนาการ หรือเอาชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ต่างๆ มาประกอบเป็นเรื่องได้ว่า การถล่มก้าวไกลดูคล้ายจะเป็นการเล่นเกมการเมือง ขจัดคู่แข่ง เสี้ยนหนามยอกใจ กรวดก้อนใหญ่ในรองเท้า เหมือนที่เพื่อไทยและทักษิณเคยถูกกระทำเมื่อครั้งอดีต ซึ่งรายละเอียดรายทางนั้นต้องว่ากันอีกยาว
อย่างไรก็ตาม มันควรจะเป็นเช้าวันอาทิตย์ปกติ ที่เราต้องมานั่งทบทวนความผิดปกติกันสักนิดสักหน่อย
ย้อนไปต้นทางของวิกฤติการเมืองสองทศวรรษ กลุ่มพันธมิตรชุมนุมขับไล่ทักษิณ อดีตนายกฯ ต้องระเห็จออกจากบ้านเกิดพร้อมสารพัดข้อหาพกใส่กระเป๋าเดินทางหอบหิ้วติดมือไปด้วย
เป็นที่เข้าใจได้ตลอดในหลายๆ ข้อกล่าวหา ว่าทักษิณอยู่ในฐานะ ‘ผู้ถูกกระทำ’ ในคดีต่างๆ ที่มีความผิดปกติ แหม่งๆ และข้อกังขาในหลายๆ ขั้นตอน
ดังนั้น การกลับมายังประเทศไทยของทักษิณเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 ผู้ติดตามการเมืองหลายคนจึงมองว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ที่ทักษิณไม่ควรติดคุกในทางปฏิบัติ เพราะทักษิณคือเหยื่อทางการเมือง ที่มีเหตุผลให้ถูกเขี่ยออกจากกระดาน ด้วยมือที่มองเห็นและมองไม่เห็นเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน
คนกลุ่มแรกจึงรับได้ กับเช้าวันอาทิตย์ปกติ ที่บ้านเมืองกลับมาเหมือนเดิมแล้ววันนี้ และคิดต่อไปจากนั้น ทักษิณยังเป็นผู้มีความสามารถ และเป็นตัวกลาง (หรือตัวประกัน) ในการดีลกับชนชั้นนำได้ อาจช่วยงานเพื่อไทยได้ในอนาคต เป็นสายสัมฤทธิผลนิยมมากกว่าการสู้แบบหัวชนฝาที่ก้าวไกลยึดมั่นถือมั่น และกำลังทำอยู่ ซึ่งผลของการดื้อรั้นบนหลักการก็ทำให้ต้องรับวิบากกรรมกันไปบน ‘ความปกติ’ ที่พิลึกพิลั่น
ส่วนคนกลุ่มต่อมาเห็นค้าน ด้วยเหตุผลพื้นฐานว่า ในเมื่อทักษิณยอมกลับประเทศด้วยวิธีนี้คือการยอมรับผิด กลับมาเป็นจำเลยในคดีของตนเอง ก็เท่ากับว่าทักษิณได้ยอมรับกระบวนการยุติธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยอ้างว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว ดังนั้น เมื่อรับผิด เป็นจำเลย ขั้นตอนทางกฎหมายควรทำงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีความวีไอพี และไม่ควรเอาดีลๆ ใดๆ มาข้องเกี่ยวให้แปดเปื้อนมลทิน
แต่ความเป็นจริงของสถานการณ์ออกไปทางข้อแรก ทักษิณเดินทางจากสนามบินไปรับทราบข้อกล่าวหา 3 คดี มีโทษรวมคือจำคุก 8 ปี จากนั้นเดินทางเข้าเรือนจำไม่ทันข้ามคืน ก็ต้องถูกย้ายไปรักษาตัวด่วนที่โรงพยาบาลตำรวจ ตามมาด้วยการได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และพักอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจยาวนาน 180 วัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และตะโกนก่นด่าของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองว่าเป็น ‘นักโทษเทวดา’
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามคำประกาศสิทธิผู้ป่วย ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอาการต่อสาธารณะ เมื่อมีผู้แสดงความขับข้องใจว่าทำไมทักษิณถึงถูกปฏิบัติอย่างวีไอพีและเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลความป่วยไข้ว่าหนักหนาสากรรจ์แค่ไหน เพราะเป็นบุคคลสำคัญ บุคคลสาธารณะ และสังคมคับข้องใจ จึงเป็นเรื่องที่มีความลักลั่นในตัวเองพอสมควร เพราะอย่างไรเสีย อดีตนายกฯ ควรได้รับความคุ้มครองข้อนี้เช่นกัน
ข่าวการพักโทษของทักษิณได้รับการยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าทักษิณเข้าเงื่อนไข อายุเกิน 70 ปี มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยเรื้อรัง และได้รับโทษมาแล้วเกิน 1 ใน 3 หรือไม่ต่ำกว่า 180 วัน และจะเดินทางกลับบ้านเช้าวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์
ถ้ามองว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวิกฤติทางการเมืองเมื่อปี 2547-2549 เช้าวันอาทิตย์จึงเป็นเช้าที่ความปกติ ทักษิณสำนึกผิด รับโทษ และบ้านเมืองกลับมาดีเหมือนเดิม
หากคุณเป็นพวกคิดมากทางการเมือง มันเป็นเรื่องที่บางคนวิเคราะห์ จินตนาการ หรือเอาชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ต่างๆ มาประกอบเป็นเรื่องได้ว่า หาดีลลับมีจริง การที่เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลโดยไม่แตะต้องมาตรา 112 นั้น คือเครื่องการันตีการกลับบ้านของทักษิณ และฉากแฮปปี้เอนดิ้งก็รูดม่านไปใหม่หมาดๆ เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา
แต่ทักษิณก็ยังมีสถานะเป็นตัวประกัน เพราะ ทักษิณ ชินวัตร ถูกกล่าวหามาตรา 112 จากการให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีส่วนหนึ่งพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 กองทัพบกแจ้งความเอาผิดทักษิณ กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากนั้น ปอท.ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559
และคดีมาตรา 112 นี้ ทำหน้าที่เหมือนกำไลอีเอ็มที่ล็อกทักษิณไว้ ไม่ให้เห็นนอกเกมจนดีลลับๆ ตามความเชื่อแบบสมคบคิดต้องเสียเรื่อง
ทักษิณได้กลับบ้าน โดยไม่ต้องติดคุก มันควรจะเป็นเช้าวันอาทิตย์ปกติ แต่บทสนทนาถึงความผิดปกติบางอย่างยังไม่หายไปไหน ความวีไอพีชั้น 14 ไม่ต้องนอนเรือนจำ ความหนักหนาวิกฤติของอาการป่วยไข้ไม่สบาย สถานะเกณฑ์นักโทษสูงวัย ยังถูกตั้งคำถาม ดีลทั้งลับและไม่ลับอาจต้องถูกวางไว้สักพัก แล้วมาย้อนดูเรื่องเล่าเก่าๆ ที่ความเจ็บป่วยสาหัสมีรั้วตารางเรือนจำเป็นกำแพง หลายประเด็นอาจทำให้สองเรื่องนี้ยากจะเปรียบเทียบกันได้แนบสนิท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางเรื่องเล่านี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ที่ชี้เป็นชี้ตาย คืนอิสรภาพและริบชีวิตนักโทษบางคนได้
กรณีนี้ ทักษิณ ชินวัตร ถูกชี้เป็น อำพล ตั้งนพคุณ ถูกชี้ตาย
เมื่อครั้งทักษิณได้ออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการป่วยหนัก ที่ต่อมามีข่าวว่าได้รับการผ่าตัด บางคนชวนคิดไปถึงกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 กับนักโทษสูงวัยคนหนึ่ง ที่ อานนท์ นำภา ทนายความ เรียกติดปากว่า ‘อากง’ ชื่อจริงคือ อำพล ตั้งนพคุณ
อำพล ตั้งนพคุณ ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 หลังถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของ สมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และข้อความสั้น 4 ข้อความ มีเนื้อหาแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี
ปลายปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษอำพลจากการส่ง SMS จำนวน 4 ข้อความ รวมเวลา 20 ปี ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ระหว่างเตรียมยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ปี 2555 อากงถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย สำนักข่าวประชาไท รายงานเหตุการณ์ว่า อากง-อำพล ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม 2555 เวลาประมาณ 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปิดห้องขังพอดี โดยมีการส่งประวัติเบื้องต้นมาด้วยว่าคนไข้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ก่อนถูกส่งมาที่ชั้น 5 ซึ่งมี 40 เตียง แต่แบ่งพื้นที่โซนพิเศษ 10 เตียงที่จะอยู่ใกล้ลูกกรงเพื่อที่ผู้ป่วยหนักจะได้อยู่ในสายตาของพยาบาล และอำพลก็นอนรักษาตัวในส่วนนี้
ทั้งนี้ การเข้าไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วย พยาบาลจะเข้าได้เฉพาะเมื่อมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปด้วยเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ และในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หลังจากนั้นจะปิดห้องซึ่งเป็นลูกกรง แต่พยาบาลเวรก็ยังสามารถมองเห็นผู้ป่วยในโซน 10 เตียงได้ค่อนข้างชัดเจน
พยาบาลของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้ข้อมูลต่อศาลว่า หลังจากถูกส่งมาในวันศุกร์เย็น จากนั้นก็ติดวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันฉัตรมงคล เจ้าหน้าที่จะไม่มาทำงาน มีเพียงพยาบาลเวรชาย 1 คน ดูแลผู้ป่วยทั้งตึก
มาถึงเช้าวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม อากงถูกพบอาการทรุด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอาการสืบเนื่องจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็ง และไม่มีเครื่องมือเพียงพอ
นอกจากนี้ การส่งตัวไปรักษายังสถาบันมะเร็งหรือโรงพยาบาลข้างนอกไม่สามารถทำได้ในวันหยุด และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจส่งตัวก็มีเพียงผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์เท่านั้น
‘ป้าอุ๊’ รสมาลิน ตั้งนพคุณ ภรรยาของอากง บอกว่า อยากให้กรณีการเสียชีวิตของอากงเพราะการรักษาพยาบาลที่บกพร่องเป็นกรณีตัวอย่าง
"พวกนักโทษเขาป่วยก็ดูแลเขาหน่อย กว่าเขาจะกระเสือกกระสนให้มีการส่งตัวมาโรงพยาบาลได้ก็แสนลำบาก เขาขาดอิสรภาพแล้ว อย่าเพิ่งให้เขาต้องขาดใจด้วยเลย"
คำพูดในวันรับศพอากงของป้าอุ๊คือ "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว"
อากง-อำพล ตั้งนพคุณ / โดย Nuttal-Thanapohn Dejkunchorn
ในโมงยามที่ข้อถกเถียงทางการเมืองยังคงมีประเด็นวีไอพี ระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยว การปลุกปั่นความเกลียดชังเกิดขึ้นซ้ำซาก นักกิจกรรมวัย 20 ต้นๆ ยังอดอาหารเพื่อยืนยันว่า ไทยไม่ควรเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน UN กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นข้อถกเถียงเอาเป็นเอาตายเรื่องมาตรา 112 และยังไม่รู้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่คดียังไม่สิ้นสุด ทั้งมาตรา 112 และคดีการเมือง จะเดินไปสู่ข้อยุติแบบใด
มันจึงเป็นวันอาทิตย์ปกติวันหนึ่ง เป็นวันที่ความวิปริตของความยุติธรรมบางประการยังคงอยู่ในอิริยาบถเดิมเหมือนวันอื่นๆ ไม่เคยเปลี่ยนไป เป็นวันกลับบ้าน เป็นวันที่ให้รำลึกถึงบางความตาย ก่อนที่เช้าวันจันทร์จะมาถึง - ไม่มีอะไรมากกว่านี้
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส