และแล้ววันแห่งการรอคอยของบรรดาผู้ประกันตนก็มาถึง เมื่อกระทรวงแรงงานออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567
ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 8 กำหนดให้ กรรมการประกันสังคมมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และส่วนที่สองเป็นกรรมการโดยการเลือกตั้ง
กรรมการส่วนแรก มี 7 คนประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ
กรรมการส่วนที่สอง มี 14 คน ประกอบด้วย กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายจะ 7 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 2 ปี
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โดยไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ผลการนับคะแนนในส่วนกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ปรากฏว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้คะแนนติด 6 อันดับแรก (ผู้สมัครอีก 1 คนในทีมประกันสังคมก้าวหน้าคุณสมบัติไม่ครบ) ขณะที่ผู้แทนอันดับ 7 มาจากกลุ่มอื่น ดังนี้
1. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 71,917 คะแนน
2. ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 69,403 คะแนน
3. ชลิต รัษฐปานะ 69,264 คะแนน
4. ศิววงศ์ สุขทวี 69,256 คะแนน
5. นลัทพร ไกรฤกษ์ 68,133 คะแนน
6. ลักษมี สุวรรณภักดี 67,113 คะแนน
7. ปรารถนา โพธิ์ดี (ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย) 15,080 คะแนน
แต่เมื่อประกาศผลคะแนนเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 ผลปรากฏว่า คะแนนของ ปรารถนา โพธิ์ดี อันดับ 7 ลดลง 1,330 คะแนน เหลือเพียง 13,750 คะแนน ทำให้ปรารถนาตกลงไปอยู่ลำดับ 9 และส่งผลให้ จตุรงค์ ไพรสิงห์ จากทีมสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 7 แทน และได้เป็นบอร์ดประกันสังคมในสัดส่วนผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ด้านปรารถนาส่งหนังสือร้องเรียน แต่ไม่เป็นผล
แต่ไม่ทันที่บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่จะได้ประชุมนัดแรก ก็มีข่าวไม่สู้ดีออกมาโดยเกี่ยวพันกับกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน
สองวันหลังมีคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดประกันสังคม 16 กุมภาพันธ์ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ได้โพสต์ใน X ว่า
“หลังจากที่ฝ่ายอำนาจเก่าพ่ายแพ้อย่างหนักในการ #เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ที่ผ่านมาล่าสุด กระทรวงแรงงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ให้บอร์ดใช้ระบบแต่งตั้งเหมือนเดิม ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาบรรจุลงในวาระ ครม.แล้วหาก ครม.เห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการสภา”
กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ยกตัวอย่างเอกสาร ระบุว่า มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรค 3 ของมาตรา 8 แห่ง พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตน หญิงและชาย คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส”
กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้ายังมีข้อสังเกตุถึงความพยายามยกเลิกระบบ #เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โดยผู้ประกันตนว่า อาจถูกผลักดันโดยกลุ่มอำนาจเก่าของกระทรวงแรงงาน และขอฝากไปยัง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ทบทวนกฎหมายประกันสังคม อย่าปล่อยให้การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนต่อกองทุนลดลงไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ที่เตรียมแก้ไข คือ ฉบับที่ 5 พิจารณาแล้วพบว่า สาระสำคัญคือการแก้ไข มาตรา 8 ประเด็นเรื่องที่มาของบอร์ดประกันสังคมจากการเลือกตั้ง แก้ไขเป็นการสรรหา และลดจำนวนกรรมการตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนเหลือเพียง 1 คนจาก 7 คน
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ที่มีคะแนนอันดับ 1 โพสต์ใน X ว่า “ไม่ทันได้หายใจ เตรียมยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม หลังฝั่งอำนาจนิยมพ่ายแพ้หนัก”
วันต่อมา 17 กุมภาพันธ์ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ใน X ว่า “คนที่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกันตน และเหมาะที่จะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกันตน และมีหน้าที่ผูกพันยึดโยงกับผู้ประกันตน ก็คือ คนที่ผู้ประกันตนเลือก จะมาถืออำนาจบาตรใหญ่ ยึดอำนาจจากผู้ประกันตน ที่เป็นหนึ่งในเจ้าของเงินกองทุนประกันสังคมได้อย่างไร”
ท่ามกลางคำถามและความฉงนว่า เพราะเหตุใดจึงมีการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ให้ไปใช้การแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 มารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า ที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายประกันตน ไม่ได้เพิ่งเสนอแก้ไขหลังจากมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมตามที่เป็นข่าว แต่เป็น ร่าง พ.ร.บ.เดิม ที่เคยเสนอแก้ไขตั้งแต่ปี 2565 แต่ร่างกฎหมายต้องตกไป เพราะมีการยุบสภาในปี 2566
โดยวิธีการได้มาซึ่งกรรมการให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจากเดิมที่กำหนดให้กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มาจากการเลือกตั้ง เป็นวิธีการสรรหา เพราะในร่างกฎหมาย มาตรา 8 ได้กำหนดวิธีการได้มา ไว้ 2 วิธี ได้แก่ 1. การเลือกตั้ง และ 2. วิธีการสรรหา
เหตุผลเนื่องจากหากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น เกิดโรคระบาด หรือเกิดภัยพิบัติ ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้การบริหารกองทุนประกันสังคมไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบอร์ดประกันสังคมหมดวาระลง (บอร์ดประกันสังคมรักษาการจะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบในบางเรื่อง)
จึงกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดวิธีการอื่น เช่น วิธีการสรรหาคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนได้
การออกมาให้ข่าวของสำนักงานประกันสังคม เท่ากับยอมรับว่า มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ จริง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 ไม่ใช่เพิ่งดำเนินการเมื่อทราบผลเลือกตั้งกรรมการตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าชนะอย่างท่วมท้น โดยอันดับสุดท้ายของทีมประกันสังคมก้าวหน้ามีคะแนนมากกว่าผู้ได้อันดับ 7 ไม่น้อยกว่า 50,000 คะแนน ตรงนี้มีความสำคัญเพราะคะแนนที่ทิ้งห่างสะท้อนว่า กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนจากทีมประกันสังคมก้าวหน้าเสมือนได้รับฉันทามติจากสมาชิกทั้งมวลให้เข้ามาทำงานอย่างเต็มที่
กรณีดังกล่าว แม้จะเป็นร่างกฎหมายเดิมก็จริง แต่ตัวร่างกฎหมายเองก็มีปัญหา เพราะยังไม่ทันให้โอกาสบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้งทำงาน ก็จะมาแก้ไขให้บอร์ดสามารถมาจากวิธีการสรรหาเสียแล้ว อีกทั้งถ้าสำนักงานประกันสังคมคิดว่าร่างกฎหมายเดิมไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรนำเข้าสู่กระบวนการเสนอร่างกฎหมายอีกครั้งในรัฐบาลชุดนี้ใช่หรือไม่ และ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็สามารถยับยั้งร่างกฎหมายได้ถ้ามีข้อกังขาหรือไม่เห็นด้วย ตรงนี้คือความรับผิดชอบของตัวรัฐมนตรี และของคณะรัฐมนตรีหากมีการนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ครั้งที่ 5 เข้ามาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ในการให้ข่าว แม้จะระบุว่าจะใช้หลักการให้เลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ส่วนวิธีการสรรหาเป็นกรณีสุดวิสัย แต่ก็มีคำถามว่า แล้วไม่มีวิธีการอื่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศของการบริหารกองทุนประกันสังคม นอกจากการให้รัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งบอร์ดแล้วหรือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวาระที่จำต้องพิจารณาเป็นเรื่องสำคัญ บุคคลที่มาจากวิธีสรรหาจะสามารถตัดสินใจแทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนได้อย่างไร
ข้อน่าติดใจอีกเรื่อง ทำไมจึงเสนอแก้กฎหมายให้กรรมการตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตน เหลือแค่ฝ่ายละ 1 คนเท่านั้น เรื่องนี้ยังไม่มีคำอธิบาย
วันเดียวกัน 19 กุมภาพันธ์ ทีมประกันสังคมก้าวหน้า โพสต์ข้อความใน X ถึงข้อชี้แจงของสำนักงานประกันสังคมว่า อ้างเหตุผลสุดวิสัยเพื่อยกเลิกระบบเลือกตั้ง จริงๆ สามารถเขียนข้อปฏิบัติกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยไว้ได้ ไม่ใช่มายกเลิกการเลือกตั้งที่เขียนไว้ในกฎหมาย
บอร์ดประกันสังคมชุดนี้จะเข้ามาดูแลสมาชิกที่เป็นสถานประกอบการกว่า 510,000 แห่ง และผู้ประกันตนกว่า 24.5 ล้านคนบทบาทสำคัญ คือเสนอความคิดเห็น นโยบายและมาตรการ ออกกฎระเบียบ ดูแลสวัสดิการกองทุนจนถึงการวางระเบียบการรับเงิน จ่ายเงิน จัดหาผลประโยชน์ และเก็บรักษาเงินของกองทุน ฯลฯ
เงินสะสมของกองทุน ณ เดือนกรกฎาคม ปี 2566 มีกว่า 2.37 ล้านล้านบาท รวมดอกผลการลงทุนเฉพาะเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม มี 31,940 ล้านบาท เงินสะสมกองทุนเงินทดแทน จำนวน 76,470 ล้านบาท และดอกผลจากการลงทุน 1,247 ล้านบาท
การทำหน้าที่ต่อจากนี้ไปของบอร์ดประกันสังคมชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งจึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าจะนำพากองทุนไปในทิศทางไหน รวมถึงต้องจับตาว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะมีท่าทีอย่างไรต่อการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ในขณะที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าที่ใกล้ชิดกับพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมโดยสมบูรณ์
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส