ศาลไม่ให้ประกัน ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และให้ฝากขังต่ออีกหนึ่งผัด โดยบอกว่ามีเหตุผลเพียงพอ เพราะพนักงานสอบสวนต้องสอบพยาน และตรวจสอบคลิปวิดีโอเพิ่มเติม
ช่วงเช้าวันนี้ ตัวแทนของ ส. ศิวรักษ์ หรือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม และ ใบตองแห้ง-อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ สื่อมวลชน เดินทางมายื่นหนังสือต่อศาลอาญา ขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังนักกิจกรรมทั้งสอง และต่อมา สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เดินทางมายื่นคำแถลงต่อศาลอาญาเช่นกัน
สายน้ำ-นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ นักกิจกรรม ซึ่งรับหน้าที่เป็นตัวแทนของ ส. ศิวรักษ์ อ่านแถลงการณ์ของ ส. ศิวรักษ์ มีใจความว่า
"ในฐานะเนติบัณฑิตอังกฤษ มีความเชื่อมั่นในหลักนิติปรัชญาว่า ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกัน การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันอันตรายอื่นใด หรือการหลบหนีเท่านั้น และต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้ และเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้ เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนทั้งสองคนก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด ไม่มีเหตุใดทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมตัวไว้ตามคำร้องขอรัฐ
จึงขอให้ศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจศาลยุติธรรมที่มีอยู่ เพื่อให้เขาได้มีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้ทางคดีอย่างเต็มที่ หากทั้งสองคนมีความผิดก็ให้ลงทัณฑ์ หากถูกก็ขอให้ยกฟ้องและปล่อยตัวโดยทันที "
เวลาประมาณ 14.10 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานทาง X ว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ตะวันและแฟรงค์ผัดที่สาม เป็นเวลา 12 วัน โดยเหตุผลที่ระบุคือ พนักงานสอบสวนยังมีพยานบุคคลต้องสอบอีก 2 ปาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และรอวิดีโอพยานหลักฐาน เพื่อที่จะพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป
ทั้งนี้ ในเอกสารทางการระบุเหตุผลของการรับฝากขังต่อว่า
“พิเคราะห์คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 และข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้ว เห็นว่า คดียังอยู่ระหว่างการสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ และผู้ร้องยังมีพยานบุคคลที่จะต้องสอบอีก 2 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งสอง ทั้งยังต้องรอผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์จากกองพิสูจน์หลักฐาน (คลิปวิดีโอ) ว่ามีการแก้ไข ดัดแปลงหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาทำความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง กรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องควบคุมผู้ต้องหาทั้งสองต่อไป ดังนั้น คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ของผู้ร้อง จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 และในส่วนเรื่องอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา เมื่อศาลอนุญาตให้หมายขังตามคำร้องขอฝากขังแล้ว เป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว หรืออุทธรณ์คำสั่งได้ตามกฎหมาย จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องฝากขังได้ตามขอ และกำชับให้พนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในการฝากขังครั้งนี้”
ในวันนี้ ตะวันและแฟรงค์ไม่ได้ถูกเบิกตัวมาที่ศาล โดยแฟรงค์ฟังการไต่สวนด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนตะวันไม่ได้เข้าร่วมรับฟัง แต่ได้ฝากแถลงผ่านทนายความว่า
“ผู้ต้องหาทั้งสองขอเรียนต่อศาลว่า จากการไต่สวนพยานขอร้องฝากขังครั้งที่ 1 และครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าการกักขัง คุมขัง ระหว่างการสอบสวน เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็นตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา หากไม่ฝากขังก็ไม่เป็นต่ออุปสรรคต่อพนักงานสอบสวน พยานผู้ร้องเคยเบิกความว่าผู้ต้องหาทั้งสองคนเป็นเพียงเยาวชน และมีที่อยู่แน่นอน จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
"ดังนั้นการคุมขังผู้ต้องหาทั้งสองคนในคดีนี้ ซึ่งเป็นการฝากขังระหว่างการสอบสวน มิใช่ระหว่างการดำเนินคดีหลังฟ้อง จึงเป็นการกักขังในกรณีพิเศษ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หากพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ เรียกให้ผู้ต้องหาทั้งสองมารายงานตัวตามคำสั่ง เห็นได้จากคดีที่ผ่านมาผู้ต้องหาทั้งสองถูกดำเนินคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าคดีนี้ ก็มาศาลทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี จึงขอให้ศาลพิจารณาคำขอฝากขังครั้งที่ 3 อย่างเคร่งครัด และขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 และส่งให้ปล่อยตัว เพื่อให้ผู้ต้องขังทั้งสองไปดำเนินชีวิตอย่างปกติ”
แฟรงค์ และ ตะวัน / ภาพ: ไข่แมวชีส
ตะวันและแฟรงค์ถูกคุมขังในเรือนจำจากข้อกล่าวหาบีบแตร และขัดขวางขบวนเสด็จ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 โดยหากแยกเป็นความผิดตามกฎหมาย คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, ร่วมกันก่อความรำคาญในที่สาธารณะ, ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และบีบแตรรถยนต์โดยไม่มีเหตุอันควรตาม พ.ร.บ.จราจรฯ
ทั้งคู่ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งในวันนั้นตะวันและแฟรงค์ประกาศอดอาหาร ปฏิเสธการรักษา โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
2. ต้องไม่มีคนติดคุกเพราะเห็นต่างอีก
3. ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ตะวันอาการหนักเกินกว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะรับมือ จึงถูกย้ายจากทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์
ก่อนหน้านี้ 24 กุมภาพันธ์ สมหมาย ตัวตุลานนท์ พ่อของตะวัน เป็นผู้เดินทางมายื่นขอให้ศาลพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในการฝากขังผัดที่สอง เพื่อขอความเมตตาจากศาล ‘ขอชีวิตลูกสาว’ หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมขอฝากขังต่อ แต่ไม่สำเร็จ
นับถึงวันที่ 8 มีนาคม 2567 ตะวันและแฟรงค์อดอาหารมาแล้ว 22 วัน โดยแฟรงค์รักษาตัวที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนตะวันที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ
เพจเฟซบุ๊ก Tawan Tantawan เปิดเผยบันทึกการเยี่ยมตะวันละแฟรงค์ เมื่อวันที่ 7 มีนาคมว่า ไม่รู้ค่าเลือดของตะวัน เนื่องจากระบบของโรงพยาบาลล่ม ตะวันรู้สึกใจสั่น หอบเหนื่อย ตาเหลือง โดยตะวันยังยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องเดิม และกล่าวกับแม่ว่า “มันคือการต่อสู้ ลูกขอเดิมพันด้วยชีวิต”
ด้านแฟรงค์ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พบว่าปัสสาวะน้อย ไม่สามารถทราบค่าเลือดได้ แฟรงค์เล่าว่า มีคำแนะนำให้เปลี่ยนวิธีต่อสู้ เพราะ “ข้างนอกเงียบมาก” แต่แฟรงค์ยังยืนยันใช้วิธีอดอาหารเหมือนเดิม และกล่าวกับยายที่มาเยี่ยมว่า “ขอให้เข้าใจกันและกันนะว่าผมกำลังต่อสู้กับอะไรอยู่ ไม่ต้องเป็นห่วงผม สู้ไปด้วยกันนะยาย”
ทั้งนี้ ทั้งตะวันและแฟรงค์ยังสามารถยื่นขอประกันได้อีกระหว่างขอฝากขังผัดนี้ ซึ่งศาลได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวน และตรวจสอบหลักฐานให้เรียบร้อยในการฝากขังผัดนี้
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส