ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

สถานีต่อไปของ ‘ตู้โดยสารหมายเลข 112’ และสัมภาระต้องห้าม ในขบวนรถไฟสายนิรโทษกรรม

Apr 3, 2024 การศึกษา

นับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนแห่งความรัก หนึ่งในหัวข้อหลักที่มีการถกเถียงกันทั้งในและนอกสภา คือ ‘การนิรโทษกรรมคดีการเมือง’ หรือการออกกฎหมายที่ให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามกับรัฐ โดยให้ถือว่า การกระทำที่ถูกดำเนินคดีไม่ถือเป็นความผิด ไม่ต้องรับโทษ เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประเด็นที่หลายฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน คือ จะนิรโทษกรรมให้กับคดี 112 หรือ คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เพราะฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่นิรโทษกรรมให้คดี 112 โดยอ้างว่า คดี 112 เป็นคดีความมั่นคงไม่ใช่คดีทางการเมือง ซึ่งสวนทางกับภาคประชาชนระบุในกฎหมายอย่างชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมต้องนับรวมคดี 112 เข้าไปด้วย

ในขณะที่พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล และพรรคก้าวไกล แกนนำฝ่ายค้าน เลือกเดินทางสายกลาง โดยฝ่ายค้านระบุในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอไปว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนิรโทษกรรมในการพิจารณาว่า คดีมาตรา 112 คดีใดควรได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีการเสนอร่าง แต่เสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมเพื่อใช้แสวงหาทางออกร่วมของทุกฝ่ายเสียก่อน

อย่างไรก็ดี การที่คดีมาตรา 112 จะได้ขึ้นรถไฟขบวนสายนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะหากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีความเห็นพ้องต้องกัน การนิรโทษกรรมแบบนับรวมคดี 112 ก็จะเป็นจริงได้ เพราะเสียงในสภาของทั้งสองพรรครวมกันนั้นมีมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภา แต่หากไม่เห็นพ้องกับการนิรโทษกรรมแบบนับรวมคดี 112 หนทางไปต่อของคดีดังกล่าว คือ การผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย หรือ การสร้างกลไกกลั่นกรองคดีเพื่อลดปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 

 

คดี 112 ถูกตีตราเป็น ‘สัมภาระต้องห้าม’ บนรถไฟสายนิรโทษกรรม

คำว่า ‘คดีการเมือง’ แม้จะไม่มีบทนิยามที่ชัดเจน แต่คำดังกล่าวสัมพันธ์กับคำว่า ‘นักโทษทางการเมือง’ (political prisoner) หรือบุคคลที่ต้องถูกคุมขัง ถูกจำกัดเสรีภาพ อันเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง หรือจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่างและท้าทายกับกลุ่มผู้ถืออำนาจรัฐ ดังนั้น คดีการเมืองจึงเป็นคดีความที่มาจากการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนหรือประชาชน

สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้ว่าตัวบทกฎหมายจะมุ่งคุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่กฎหมายของไทยมีข้อถูกวิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเกินสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นการมีอัตราโทษที่สูงกว่ากฎหมายในความผิดฐานเดียวกันทั้งในไทยและต่างประเทศ 

รวมถึงประเด็นหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่ต้องไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการติชมโดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่มาตรา 112 กลับไม่มีหลักการคุ้มครองในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น มาตรา 112 จึงเป็นส่วนหนึ่งของคดีการเมือง

อีกทั้ง หากพิจารณาจากการบังคับใช้มาตรา 112 ยิ่งสะท้อนความเป็นคดีทางการเมืองได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แม้ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ สุปรียา การติดป้ายผ้าแสดงความคิดเห็นการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลที่เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ กรณีของ พิมพ์สิริ ปราศรัยถึงหน้าที่ของกองทัพไทยและสถาบันฯ ในการทำรัฐประหาร พร้อมกล่าวถึงข้อคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติ ว่าไม่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 

จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 ได้กลายมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างกว้างขวาง หากนับเฉพาะช่วงหลังมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในนามกลุ่มราษฎร เมื่อปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม มาตรา 112 อย่างน้อย 262 คน และมีผู้ที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดี 112 ทั้งคนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว หรือ คนที่เป็นผู้ต้องหาเด็ดขาดอีก อย่างน้อย 23 คน 

แต่อย่างไรก็ดี ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังคงมองว่า คดี 112 ไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีความมั่นคง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ก็เป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติและเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้น การแสดงออกในเชิงที่กระทบกับสถาบันกษัติรย์จึงต้องไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

แต่หากดูจากการนิรโทษกรรมคดีการเมืองในอดีต จะพบว่า มีคดีจากมาตรา 112 ที่เคยได้รับการนิรโทษกรรมมาก่อน เช่น หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ซื้อกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง 4 - 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับทุกกฎหมาย ทุกกรณี ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดี 112 ในขณะนั้น ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วย

จะเห็นได้ว่า มาตรา 112 ไม่เคยเป็นข้อยกเว้นในการนิรโทษกรรมมาก่อน จนกระทั่งหลังมีความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหญ่ในปี 2563 เป็นต้นมา และมีความพยายามจากพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมที่ทำให้คดี 112 ถูกตีตราเป็น ‘สัมภาระต้องห้าม’ บนรถไฟสายนิรโทษกรรม

 

ไม่แก้กฎหมายก็ต้องแก้ปัญหาบังคับใช้ ตู้โดยสารใหม่ของคดี 112

ด้วยความเป็นคดีการเมืองของมาตรา 112 ทำให้คดี 112 ไม่ควรตกรถไฟสายนิรโทษกรรม แต่ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ยังไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ทำให้สถานะของคดี 112 ยังไม่แน่นอน และท้ายที่สุด อาจจะขึ้นอยู่กับบทบาทของ กมธ.ศึกษา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

ทั้งนี้ หากคดี 112 ตกรถไฟสายนิรโทษกรรม ตู้โดยสารใหม่ในรถไฟขบวนนี้ของคดี 112 อาจจะแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 2 ขบวน ได้แก่

รถไฟขบวนที่หนึ่ง คือ ใช้กระบวนการนิติบัญญัติแก้ไขมาตรา 112 เพื่อป้องกันการใช้ฟ้องกลั่นแกล้ง ทั้งนี้ แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้นโยบายการแก้ไข มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวางกรอบไว้ว่า “ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ” หรือ หมายความว่า การแก้ไขมาตรา 112 ยังสามารถทำได้

ที่ผ่านมา มีบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เสนอความเห็นต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มาตรา 112 ไว้ต่างกรรมต่างวาระ โดยไม่ถูกร้องเรียนว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ เช่น 

  • อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า มาตรา 112 ต้องไม่เป็นคดีอาญา คือไม่มีการลงโทษ และเป็นคดีแพ่ง มีค่าปรับเท่าเท่านั้น และไม่ใช่ปรับในอัตราที่สูงเกินไป
  • สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการ-ปัญญาชนสยาม เคยกล่าวว่า กฎหมายนี้จะต้องแก้ไข สอง ไม่ใช่ใครก็เล่นงานได้ แต่ต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรอง และสาม กฎหมายนี้รุนแรงเกินไป โทษขั้นต่ำ 3 ปีต้องเลิก โทษขั้นสูง 15 ปีลดลงมาเป็น 3-5 ปีก็เพียงพอแล้ว

  • คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทำรายงานเสนอว่า ควรมีการแก้ไข 'มาตรา 112' โดยให้คงบทบัญญัติไว้เหมือนเดิม เพียงแต่แก้บทลงโทษให้เบาลง และการสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง หรือหมายความว่าอำนาจในการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นต้องผ่านการเห็นชอบจากเลขาธิการพระราชวังเสียก่อน

 

รถไฟขบวนที่สอง คือ สร้างกลไกในการแก้ปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งที่ผ่านมา มีการสร้างกลไกเพื่อทำหน้าที่ในการ ‘กลั่นกรองคดี’ มาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่

1. คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 122/2553 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่พิจารณาสำนวนการสอบสวนเพื่อเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในการทำความเห็นคดี ทั้งนี้ กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องรายงานข้อเท็จจริงของคดีต่อผู้บังคับบัญชา

2. หนังสือเลขที่ อส 0007(อก)/ว 54 ที่กำหนดให้สำนักงานอัยการที่ได้รับสำนวนคดี 112 หรือ สำนวนคดีที่พนักงานอัยการเห็นควรจะดำเนินคดี 112 ให้ทำการรายงานพร้อมส่งสำเนารายงานการสอบสวน หรือบันทึกความเห็นให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที

3. หนังสือ ยธ 0101/9333 ที่เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา อัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกลั่นกรอง ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะต่อการดำเนินคดี 112

แต่อย่างไรก็ดี กลไกในการกลั่นกรองคดี 112 ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก หากพิจารณาจากตัวเลขคดีมาตรา 112 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงยีงมีหลายคดีที่ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม 

ทั้งนี้ การงดใช้มาตรา 112 เคยประสบความสำเร็จเพียงช่วงเวลาเดียว คือ ช่วงปี 2561 ถึง 2563 ที่จำนวนคดี 112 มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกมาเปิดเผยว่า เป็นพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

“สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะอะไรรู้ไหม เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว..” 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส