นักเศรษฐศาสตร์ มองรัฐขึ้นภาษีแวต กระทบคนจน-ปานกลาง ลามภาคธุรกิจ เหตุเงินเฟ้อพุ่ง เพิ่มค่าครองชีพ ฉุดกำลังซื้อ
วันที่ 4 ธ.ค. จากกระแสข่าวที่รัฐบาลมีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต จากปัจจุบันเก็บที่ 7% ต่อปี และไปลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% นั้น น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่ารัฐบาลต้องการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อหาแรงดึงดูดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น แต่จะทำให้รายได้รัฐลดลง จึงจำเป็นต้องไปเพิ่มภาษีแวต ซึ่งเป็นฐานภาษีใหญ่ที่สุด ประเมินว่าถ้ารัฐบาลปรับขึ้นภาษีแวต จากอัตรา 7% ไปเป็น 10% จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มอีกหลายแสนล้านบาท
ทั้งนี้ สิ่งที่ตามมาคือเรื่องเงินเฟ้อ เพราะสัดส่วนภาษีแวตในตะกร้าเงินเฟ้อมีอยู่ถึง 60% ถ้าปรับเพิ่มแวตจาก 7% เป็น 10% จะทำให้เข้าไปเพิ่มอีก 1.8% ในตะกร้าเงินเฟ้อ โดยยังต้องติดตามรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร แต่ผลที่ตามมาคือขึ้นภาษีแวตสร้างเงินเฟ้อ และกระทบกับคนรายได้น้อย ดังนั้นภาครัฐอาจต้องหามาตรการอื่นเสริมควบคู่ เช่น แนวคิดเนกาทีฟ อินคัม แท็กซ์ คือการให้เงินช่วยเหลือคนไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อย เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีที่ยังอยู่นอกระบบ เพราะทุกวันนี้ยังมีภาคธุรกิจที่หลบเลี่ยงในการเสียภาษีแวตอยู่มาก หรืออาจไปเพิ่มการเก็บภาษีที่ดินรกร้าง คนที่มีที่ดินจำนวนมาก ซึ่งทุกวันนี้การจัดเก็บประเภทนี้เป็นแค่เชิงสัญลักษณ์
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในปี 68 ภาคธุรกิจยังได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการติดตามแนวคิดการขึ้นภาษีแวต ซึ่งประเมินว่าผลกระทบมีความซับซ้อน และมีผลกระทบต่อครัวเรือน ภาคธุรกิจ กิจกรรมเศรษฐกิจ โดยการปฏิรูประบบภาษี ภาคธุรกิจก็ต้องคำนวณฐานภาษีใหม่ กระทบต่อกิจกรรมธุรกิจด้วย รวมทั้งอาจกระทบกับคนที่มีรายได้ปานกลางทำให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น และกระทบต่อกำลังซื้อ การใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ จนกระทบไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับค้าปลีก สินค้าคงทน เช่น รถยนต์ บ้าน เป็นต้น
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส