สบน. ประสบความสำเร็จในการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ครั้งแรก ด้วยการเสนอซื้อเกินเป้าหมายกว่า 2.76 เท่า
นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า การสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) ในพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยนักลงทุนมีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงินการออก 20,000 ล้านบาท ที่ประกาศไว้และทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สามารถออก SLB ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.70 ต่อปี โดยมีนักลงทุนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทจัดการสินทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งการออก SLB ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลประเทศแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่สามของโลกที่ประสบความสำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลีและอุรุกวัย
SLB ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้ออกพันธบัตรจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยในครั้งนี้ KPIs และ SPTs ประกอบด้วย:
KPIs SPTs
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
(ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้) ไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ. 2573
(คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 จากค่า Business As Usual (BAU))ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษ
เป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs)
ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี พ.ศ. 2573
ทั้งนี้ กรอบการระดมทุนของ SLB รุ่นแรกของรัฐบาลไทย ได้รับการรับรองจากบริษัท DNV (Thailand) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบอิสระภายนอกที่ยืนยันว่า KPIs และ SPTs ทั้งสองข้อมีความท้าทาย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และเป็นไปตามมาตรฐานการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนของสมาคมตลาดเงินทุนนานาชาติ (The International Capital Market Association: ICMA) และตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum : ACMF)
ในลำดับถัดไป สบน. จะดำเนินการรายงานผลการดำเนินงานและตรวจสอบความคืบหน้าของ SPTs อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมถึงจะดำเนินการออก SLB ให้เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาและเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรในตลาดรอง อันจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป
ในการนี้ สบน. ขอขอบคุณนักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต และกรมการขนส่งทางบก และองค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค อันได้แก่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สถาบันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวโลก (Global Green Growth Institute: GGGI) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) รวมถึงผู้ร่วมจัดจำหน่ายพันธบัตร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (จำกัด) มหาชน ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย (จำกัด) มหาชน ที่เข้ามาร่วมกันกำหนดและออกแบบ KPIs และเงื่อนไขรูปแบบ SPTs ของ SLB ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการรับมือกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และผลักดันให้การออก SLB ของประเทศไทยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
สบน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออก SLB จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้นานาประเทศถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการทางด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาลไทย โดยในช่วงปลายปี พ.ศ. 2567 นี้ สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออก Sustainability Loan เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาด และจะดำเนินหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไป
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส