24 ก.ค.67 “ธนารักษ์” เปิดจำหน่าย จ่ายแลก และรับจองเหรียญเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 67 จะเป็นวันแรกที่ กรมธนารักษ์ เปิดจำหน่าย จ่ายแลก และรับจองเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถจ่ายแลก และจอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 5 ชนิด ได้แก่
เหรียญทองคำขัดเงาชนิดราคา 20,000 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 50,000 บาทเหรียญเงินขัดเงา ชนิดราคา 1,000 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 3,000 บาทเหรียญโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 50 บาท จ่ายแลกราคาเหรียญละ 50 บาทเหรียญโลหะสีขาวขัดเงา (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท จำหน่ายราคาเหรียญละ 200 บาทเหรียญโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท จ่ายแลกราคาเหรียญละ 20 บาท
ทั้ง 5 ชนิด มีลวดลาย ดังนี้
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เบื้องล่างมีข้อความบอกราคาว่า “๒๐๐๐๐” บาท” “๑๐๐๐ บาท” “๕๐ บาท” และ “๒๐ บาท” ตามลำดับ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ประเทศไทย” โดยมีลายไทยประดิษฐ์คั่นระหว่างข้อความเบื้องบนกับเบื้องล่างทั้งสองข้าง
เหรียญที่ระลึก 3 ประเภท
เหรียญทองคำ ราคาเหรียญละ 60,000 บาท มีลวดลาย ดังนี้
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗”
2. เหรียญเงินรมดำพ่นทรายพิเศษ ราคาเหรียญละ 10,000 บาท
3. เหรียญทองแดงรมดำพ่นทรายพิเศษ ราคาเหรียญละ 3,000 บาท
ทั้ง 2 เหรียญ มีลวดลาย ดังนี้
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองข้างมีโต๊ะเคียงทอดเครื่องราชูปโภค โต๊ะเคียงด้านขวาทอดพานพระขันหมาก โต๊ะเคียงด้านซ้ายทอดพระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เบื้องล่างด้านซ้ายทอดพระสุพรรณราช เบื้องหลังพระบรมรูปมีพระที่นั่งภัทรบิฐ ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗”
เหรียญเฉลิมพระเกียรติ (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) เหรียญเงิน ชนิดบุรุษและชนิดสตรี จำหน่ายราคาเหรียญละ 1,600 บาท โดยมีลวดลาย ดังนี้
ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศจอมทัพ ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า “พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗”ขอบนอกเหรียญ ด้านหน้าเบื้องบนมี เลข ๑๐ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องหลังประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร เบื้องล่างด้านขวามีเลข “๗” ด้านซ้ายมีเลข “๒” หมายถึง พระชนมพรรษา 72 พรรษา ด้านหลังขอบนอกเหรียญมีห่วงสำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบ กว้าง 32 มิลลิเมตร สำหรับสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบดังกล่าว ผูกเป็นรูปแมลงปอความหมายของแพรแถบ แพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีขาวนวล หมายถึง น้ำพระราชหฤทัยอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่เปี่ยมล้นที่พระองค์มอบสู่ประชาชนของพระองค์ ทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลืองข้างละ 2 ริ้ว สีเหลือง เป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และมีริ้วสีม่วงข้างละ 1 ริ้ว สีม่วง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงเคียงคู่บุญบารมีในพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สำหรับช่องทางการแลกเหรียญ มีดังนี้
เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เริ่มจำหน่าย จ่ายแลก วันที่ 24 กรกฎาคม 2567
กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2278-5439,0-2618-6340กองบริหารเงินตรา ถนนพหลโยธิน จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2565-7944พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2282-0820สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่ทั่วประเทศOnline : www.treasury.go.th
เหรียญที่ระลึก รับจอง วันที่ 24 กรกฎาคม 2567-30 สิงหาคม 2567
กรมธนารักษ์ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2278-5439,0-2618-6340พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2282-0820พิพิธบางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2281-9812พิพิธตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2233-7390พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0-5322-4237-8พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดขอนแก่น โทร. 0-4330-6167พิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จังหวัดสงขลา โทร. 0-7430-7071Online : www.treasury.go.th
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส