ค้นหาอย่างรวดเร็ว
วันนี้:

‘ลาวโมเดล’ กับราคาที่ต้องจ่าย เมื่อเปิดรับ ‘ทุนจีน’ กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอู้ฟู่ แต่อาจติดกับดักหนี้?

Apr 3, 2024 ธุรกิจ

นับตั้งแต่ลาวเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเวียงจันทน์-บ่อเต็นอย่างเป็นทางการในปี 2021 ก็ส่งผลให้การท่องเที่ยวของลาวกระเตื้องขึ้น และฟื้นตัวจากภาวะซบเซาช่วงโควิด-19 ได้ดีกว่าที่คาดเอาไว้ในช่วงแรกๆ โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปลาวมากเป็นอันดับต้นๆ คือ คนไทย เวียดนาม และจีน

เส้นทางรถไฟสายนี้เชื่อมต่อลาวถึงจีน จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลจีนนำไปอ้างอิงเพื่อประกาศความสำเร็จของโครงการแถบและทาง (Belt and Road Initiative) เชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างประเทศไปสู่จีน ภายใต้การผลักดันของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน (ที่น่าจะอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปอีกหลายปี)

เพราะลาวที่เป็นดินแดนไร้ทางออกสู่ทะเล กลายเป็นดินแดนแห่งเส้นทางข้ามประเทศ เชื่อมโยงไปถึงคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ทั้งยังช่วยขยายโอกาสในการขนส่ง กระจายสินค้า และยกระดับการคมนาคมของลาวให้ล้ำหน้าเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ปฏิกิริยาของ ‘คนใน’ ที่สะท้อนผ่านสื่ออาจแตกต่างกันไป เพราะมีทั้งผู้ยืนยันว่าโครงการพัฒนา-การลงทุนต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวดีขึ้นจริงๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนมองว่าผลประโยชน์ในเชิงบวกนั้นเกิดขึ้นแค่เพียงระยะสั้น แถมยังกระจุกตัวแต่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย และหนึ่งในนั้นก็เป็นนักลงทุนจากจีนเอง 

 

 

ข้อกังวลเพิ่มเติมคือในระยะยาวลาวอาจติด ‘กับดักหนี้’ จนต้องพึ่งพิงจีนในหลายด้าน และอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับ ‘ทุนจีน’ มีทั้งข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างบรรษัทข้ามชาติที่ได้สัมปทานจากรัฐกับประชาชนลาว การทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กระทบสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสถิติอาชญากรรมข้ามชาติเกี่ยวโยงกับแก๊งนอกกฎหมายจากจีน (รวมถึงประเทศอื่นๆ) ก็เพิ่มขึ้นด้วย

 

 

เงินกู้ก้อนใหญ่ มาพร้อมภาระหนี้ที่ใหญ่ยิ่ง

ปลายปี 2023 เว็บไซต์ The Star รายงานอ้างอิงตัวเลขของทางการลาวที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พบว่านักลงทุนจีนเข้าไปเริ่มโครงการพัฒนากว่า 900 โครงการในประเทศลาว คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนราว 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงถูกประเมินว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนการเติบโตด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของลาว

ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กลุ่มทุนจีนเข้าไปร่วมมือกับลาว ครอบคลุมตั้งแต่โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ การเงิน พลังงานไฟฟ้า การเกษตรและป่าไม้ เหมืองแร่ การพัฒนาระบบและนโยบายด้านการขนส่งโลจิสติกส์ เพราะจีนมีกำลังคน เทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่มากกว่า ทำให้ลาวต้องพึ่งพาทรัพยากรในด้านต่างๆ จากจีนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี มาริซา คูเรย์ (Mariza Cooray) นักวิจัยด้านการพัฒนาในแถบอินโด-แปซิฟิก จากสถาบัน Lowy Institute ประเมินว่าสถานการณ์แบบนี้ทำให้ลาว ‘มีราคาที่ต้องจ่าย’ เพราะเงินกู้จำนวนมหาศาลที่ลาวได้จากจีน ถูกแลกมาด้วยสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขที่อำนวยความสะดวกด้านธุรกิจให้ภาครัฐและเอกชนจีน ภายใต้การแปะฉลาก ‘ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ’

เมื่อลาวไม่สามารถจ่ายหนี้เงินกู้ให้จีนได้ตามกรอบเวลา (ส่วนหนึ่งมาจากการเกิดโรคระบาดใหญ่ด้วย) ลาวต้องเจรจาต่อรองแบบลดแลกแจกแถมให้กับจีนผู้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ โดยคูเรย์ยกตัวอย่างการเจรจาปรับแก้สัญญาความร่วมมือระหว่างสองประเทศในปี 2021 ซึ่งลาวยอมเซ็นสัญญาให้บริษัทของจีน China Southern Power Grid เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทพลังงานของรัฐบาลลาว Électricité du Laos เป็นเวลานาน 25 ปี

พูดง่ายๆ คือในเวลา 25 ปี หลังสัญญามีผล บริษัทจีนมีสิทธิ์ในการจัดการและส่งออก ‘พลังงานไฟฟ้าจากลาว’ ไปต่างประเทศได้ ซึ่งสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลลาวที่เคยประกาศกร้าวว่าจะเป็น ‘แบตเตอรี่แห่งอาเซียน’ เพราะผู้ได้รับผลประโยชน์มากสุดจากการขายพลังงานลาวในระยะแรกๆ อาจเป็นประเทศเจ้าหนี้ ไม่ใช่ทางการและประชาชนลาว

นอกจากนี้ สื่ออเมริกัน The Washington Post ยังรายงานด้วยว่า การเจรจาต่อรองเรื่องหนี้ระหว่างลาว-จีน เกี่ยวโยงกับการมอบสัมปทานให้บริษัทจีนดูแลระบบและรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน รวมถึงผ่อนผันให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจีนเข้าไปตั้งสำนักงานย่อยและปฏิบัติการในลาวได้ ซึ่งถ้ามองอีกมุมก็อาจเรียกได้ว่าลาวยอมให้จีนรุกล้ำอธิปไตย (ในบางด้าน) เป็นกรณีพิเศษ 

ที่สำคัญ ปลายปี 2023 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของลาวเป็นหนี้จีน ประมาณ 122 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก บวกกับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพพุ่งสูงที่เป็นปัญหาร่วมทั่วทั้งโลก นักวิเคราะห์จึงมองว่าปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลาว 

แต่กรณีตัวอย่างเหล่านี้ยังไม่อาจบอกได้ชัดเจนว่าในระยะยาวแล้วใครได้-ใครเสียมากกว่ากัน และรัฐบาลลาวก็แถลงในเดือนมกราคม 2024 ว่าประเทศยังไม่ถึงขั้นวิกฤติจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้มีผู้คาดการณ์ว่าลาวต้องเจรจาเรื่องการปรับเงื่อนไขชำระหนี้รอบใหม่ ซึ่งอาจเป็นการเจรจาต่อรองที่ลาวเสียเปรียบ ‘เจ้าหนี้’ อย่างไม่มีทางเลี่ยง

 

 

 

เงินกำลังจะหมุนไป…หาใคร?

สื่อจีนและลาวที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐ รายงานอย่างต่อเนื่องว่าผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและค้าขายในลาวได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการพัฒนาเส้นทางรถไฟลาว-จีน รวมถึงโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ซึ่งได้รับเงินกู้จากจีน ทั้งยังมีหลักฐานชัดเจนคือตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปลาวเพิ่มขึ้นจริงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าดูข่าวจากสื่อฝั่งตะวันตกจะพบการอ้างอิงความเห็นที่แตกต่างไป โดยสำนักข่าว RFA จากสหรัฐอเมริกา และ We are Lao สื่ออิสระออนไลน์ของลาว พูดถึงอีกด้านของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวและนักลงทุนจากจีน โดยผู้ให้สัมภาษณ์บางคนเล่าว่า ผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริงจากนโยบายนี้คือคนที่ทำงานหรือเป็นนอมินีให้กับกลุ่มทุนจีน และในลาวเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ทัวร์ศูนย์เหรียญ’ เช่นเดียวกับไทย

ข้อเท็จจริงคือทุนจีนที่เข้าไปทำธุรกิจในลาวมีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย การจ้างงานและการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับชาวจีนจึงอาจจะไม่ได้ส่งต่อไปถึงประชาชนลาวเสมอไป แต่กลับวนเวียนอยู่ในกลุ่มคนจีน ซึ่งไปทำงานหรือทำธุรกิจในลาว แม้ว่าทางการลาวจะประกาศนโยบายปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มทุนจีน แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่อาจป้องกันหรือจับกุมได้อย่างทั่วถึง เพราะลาวก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาการทุจริตในระบบของรัฐเช่นกัน

 

 

 

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการจัดการที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการลงทุนของต่างชาติด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ ซึ่งต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ นำไปสู่การเวนคืนและไล่ที่ประชาชน โดยผู้ได้รับผลกระทบมากสุดคือเกษตรกรที่สูญเสียที่ดินทำกิน และ RFA รายงานว่า ผู้ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปสร้างเส้นทางรถไฟลาว-จีน ได้รับเงินชดเชยล่าช้ากันหลายครอบครัว ทำให้เกิดการประท้วงและกดดันผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่าย

ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ Farm Land Grab ระบุด้วยว่า จีนเป็นปลายทางการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรจากลาวที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 แต่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาวยอมรับผ่านสื่อว่าผลผลิตเหล่านั้นมาจากการเก็บเกี่ยวของบริษัทจีนที่มาลงทุนในลาวและถูกส่งไปขายยังตลาดภายในประเทศจีน คนลาวจึงไม่ได้มีส่วนแบ่งสักเท่าไรจากการขยายตัวด้านการส่งออกพืชผลเหล่านี้

ที่สำคัญคือการแก้ไขกฎหมายที่ดินของลาวในปี 2020 ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติใช้สิทธิประโยชน์ด้านนี้เพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมปทานที่ดินระยะยาว 90 ปี แก่นักลงทุนที่เข้าร่วมในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ รวมถึงการปรับแก้เงื่อนไขให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ในคอนโดมิเนียมลาวได้

นักลงทุนจากจีนเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้าไปจับจองที่ดินเพื่อทำธุรกิจต่างๆ รองลงมาเป็นกลุ่มทุนจากเวียดนามและไทย แต่หลายโครงการที่เข้าไปใช้ที่ดินในลาวส่งผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ทว่านักอนุรักษ์หลายรายกลับถูกจับกุมจากการตั้งคำถามและประท้วงต่อต้านโครงการที่มีข้อกังขาด้านสิ่งแวดล้อม

ถ้าย้อนไปไม่กี่ปีก่อน คนไทยส่วนหนึ่งคงเคยได้ยินข่าวการทำสวนกล้วยของกลุ่มทุนจีนในลาวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะกระบวนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตมีการใช้สารเคมีในปริมาณมหาศาลและมีผู้คนในละแวกใกล้เคียงสวนกล้วยล้มป่วย จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลลาวระงับสัมปทานเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน แต่เรื่องราวเหล่านี้เงียบหายไปในช่วงโควิด และยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน

 

 

กลุ่มทุน ‘จีนเทา’ ปัญหาร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกเหนือจากข้อถกเถียงเรื่องต่อรองผลประโยชน์ระหว่างลาว-จีน ยังมีดัชนีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หรือ Global Organized Crime Index ประจำปี 2023 ที่บ่งชี้ว่าลาวมีคะแนนด้านอาชญากรรมเพิ่มขึ้นจาก 5.51 ในปี 2021 เป็น 6.12 (เต็ม 10 คะแนน) ซึ่งถ้าอธิบายง่ายๆ ตามเกณฑ์ของ GOCI อาจพูดได้ว่าลาวเจอปัญหาอาชญากรรมในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น

ในแง่ของอาชญากรรมด้านเศรษฐกิจและการค้า รายงาน GOCI สรุปว่า ลาวเป็นทั้งปลายทางและแหล่งกระจายสินค้าผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าแบรนด์เนมปลอมต่างๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือยาปลอม โดยต้นทางของสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากจีน เมื่อส่งถึงลาวจะถูกนำไปวางขายในแหล่งท่องเที่ยวหรือย่านธุรกิจในลาว หรือถูกส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและเวียดนาม  

นอกจากนี้ลาวยังเป็นทั้งต้นทาง ปลายทาง และแหล่งกระจายสินค้าของขบวนการค้ามนุษย์ ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่า ขบวนการค้ายาเสพติด โดยมีเบาะแสบ่งชี้ว่าเป็นผู้เล่นสำคัญในธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้คือเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติจากจีน เวียดนาม ไทย 

รายงานของ GOCI ระบุด้วยว่า การทำผิดกฎหมายของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติในลาวส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลไกภาครัฐที่อ่อนแอ ไม่มีกำลังคนเพียงพอในการดูแลปราบปราม ทั้งยังขาดความโปร่งใส บวกกับเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งลาวถูกรายล้อมด้วยประเทศที่เข้มแข็งกว่าในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ลาวตกเป็นเป้าของเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติเหล่านี้มาตลอด

 

 

 

แม้จะยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการเปิดรับทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลาวตกเป็นเป้าของเครือข่ายอาชญากรเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ประเด็น ‘จีนเทา’ หรือกลุ่มทุนผิดกฎหมายจากจีน ที่ฉวยโอกาสจากนโยบายด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจเข้าไปประกอบธุรกิจสีเทาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสิ่งที่ถูกตีแผ่อย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

กรณีของไทยมีการสอบสวนและจับกุมผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับเครือข่ายอาชญากรจากจีน ซึ่งทำธุรกิจพนัน ค้ามนุษย์ ยาเสพติด และฟอกเงิน ทำให้เกิดคำถามขึ้นเมื่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ประกาศนโยบายฟรีวีซ่าถาวรให้จีนช่วงแรกๆ เพราะมีผู้ทักท้วงว่านโยบายอำนวยความสะดวกด้านการเข้าออกประเทศ จะส่งผลให้กลุ่มทุนจีนเทาหรือเครือข่ายอาชญากรอื่นๆ แฝงตัวเข้ามาในไทยได้ง่ายขึ้น 

ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ณ ตอนนี้ เพราะมาตรการเพิ่งจะบังคับใช้ได้แค่ไม่กี่วัน แต่สิ่งที่ประชาชนไทยบางส่วนสะท้อนผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ คืออยากเห็นเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ เฝ้าติดตาม ตรวจสอบอย่างจริงจัง ไม่ให้บรรดาอาชญากรทั้งหลายมีโอกาสก่อเหตุใดๆ กับคนในประเทศไทย ขณะที่การเจรจาเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ก็ควรเปิดกว้างให้ประชาชนตั้งคำถามและตรวจสอบได้ด้วย

 

ค้นหาอย่างรวดเร็ว

ฝ่ายกิจการอย่างเป็นทางการเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับข่าวระดับภูมิภาคล่าสุด ข้อมูลอัปเดตขององค์กร และประกาศอย่างเป็นทางการ โดยให้การรายงานที่เป็นกลางและข้อมูลเชิงลึกในกิจการขององค์กร

© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส