ลุ้นกันอีกแล้วว่าจะมีอดีตนายกรัฐมนตรีกลับไทยมาเร็วๆ นี้อีกคนหรือไม่ หลังจากศาลฎีกายกฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีโครงการโรดโชว์ (Roadshow) อนาคตประเทศไทย 2020 งบ 240 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนหมายจับ
ทำให้หลายคนมองว่าอดีตนายกฯ หญิงคนนี้ จะได้กลับบ้านและใช้ชีวิตในไทยแบบไม่ต้องเข้าเรือนจำแบบ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ เพราะนับตั้งแต่มีการหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อปี 2560 เพราะสัญญาที่ส่งมาตอนนี้ คดีที่ค้างอยู่เริ่มคลี่คลายออกในทิศทางที่ดี
เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คดีโครงการโรดโชว์ 240 ล้าน ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจัดจ้างโครงการโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย 2022 จำนวนเงิน 239,700,000 บาท พร้อมออกหมายจับกรณีไม่มาศาล
ล่าสุด วันที่ 4 มีนาคม 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 พิพากษายกฟ้อง และสั่งเพิกถอนหมายจับในคดีโรดโชว์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า ไม่พบมีเจตนาในการเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และเมื่อทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างในโครงการดังกล่าว
และไม่ใช่เพียงคดีเดียวที่เป็นสัญญาณส่อแววว่า ยิ่งลักษณ์ จะได้กลับไทยแบบพี่ชาย เพราะเมื่อปลายปีที่ผ่านมา 26 ธันวาคม 2566 มีการยกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ ในข้อหาตามมาตรา 157 โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้กับ ถวิล
ทั้งนี้ คดี ยิ่งลักษณ์ โยกย้าย ถวิล จากตำแหน่งเลขาฯ สมช. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ศาลได้ทำการพิพากษามาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ได้แก่
หากดู 2 คดีนี้แล้วเหมือนตั้งแต่มีรัฐบาลเพื่อไทย เส้นทางการกลับบ้านของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชัดเจนมากขึ้น แต่ยังมีผลงานในอดีตชิ้นใหญ่ที่ใครๆ จดจำ อย่างคดีโครงการจำนำข้าว ที่อาจจะต้องรอดูว่าดีลลับมีเงื่อนไขอย่างไร
สำหรับคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2558 ศาลฎีกาฯ ประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว และนัด ยิ่งลักษณ์ ฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 แต่ ยิ่งลักษณ์ ไม่มา โดยต่อมามีรายงานข่าวว่า ยิ่งลักษณ์ เดินทางหลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนหน้านั้น ศาลฯ จึงอ่านคำพิพากษาลับหลังอีกครั้งในวันที่ 27 กันยายน 2560 ให้จำคุก ยิ่งลักษณ์ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้ออกหมายบังคับคดีนำตัวมาดำเนินคดี
ทั้งนี้ ป.ป.ช. สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกฯ คดีการจัดจ้างโครงการโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย 2022 ได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคม นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามกฎหมายแล้วมีระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ ขณะนี้รอดูคำพิพากษาตัวเต็มจากทางศาลฎีกาก่อนว่าประเด็นอะไรบ้างที่ศาลยกฟ้อง และยอมรับได้หรือไม่ จากนั้นจะนำมาพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ ป.ป.ช.เป็นผู้ฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง โดยตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
ส่วนคดีที่มีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ใน ป.ป.ช. เหลือเพียงคดีเดียว คือ กรณีกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเอกชน โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน
คดีจำนำข้าวนี้เองเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งเป็นคดีแรกที่ทำให้ ยิ่งลักษณ์ หลบหนีออกนอกประเทศ และอาจเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เกิดการชุมนุม กปปส. เมื่อปี 2556 รวมทั้งไม่มีใครรู้ได้ว่าหาก ยิ่งลักษณ์ กลับมาแล้ว จะต้องโทษจำคุกหรือไม่ หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย แต่ได้รับการอภัยโทษ ลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี ต่อมาได้รับการพักโทษ จนตอนนี้ได้อยู่ที่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส