“พิมพ์ภัทรา” สั่ง สมอ. เร่งสกัดสินค้าด้อยคุณภาพ ราคาถูก บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ได้เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจ SME รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชน จากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการตามภารกิจ “Quick win” เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ ที่ สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
รวมทั้งพิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ เสียภาษีอย่างถูกต้อง และไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งภารกิจ “Quick win” กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322,420,097 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92,767,374 บาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด
นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ภาชนะและเครื่องใช้สเตนเลส กระทะ/ตะหลิว/หม้อ/ช้อน/ส้อม/ปิ่นโต/ถาดหลุม ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์ ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
นอกจากการดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้ 1) เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร (Shipping) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2) สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 3) บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 4) บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 5) บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส