คดีนักร้อง (เรียน) ตกเป็นผู้ต้องหาเสียเอง ฐานเรียกรับเงินจากข้าราชการ แลกกับการไม่ร้องเรียนเรื่องทุจริต มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ทั้งฝั่งผู้ถูกจับกุม หรือผู้ต้องหา ฝั่งผู้ร้องเรียน หรือผู้เสียหาย และฝั่งผู้ถูกพาดพิงซึ่งเป็นนักการเมือง
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำหมายค้นเข้าตรวจสอบ 3 จุดที่จังหวัดปทุมธานี เป้าหมายสำคัญคือบ้านพักของ ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน และนักร้องเรียนชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายส่งตัวแทนนำเงิน 500,000 บาทไปส่งมอบให้กับภรรยาของศรีสุวรรณ ต่อมามีการหยิบซองเงินเข้าไปภายในบ้าน ตำรวจจึงแสดงตัวเข้าตรวจค้นและจับกุมศรีสุวรรณ โดยให้พาตรวจค้นหาพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติมภายในบ้าน และพบซองเงินที่ถูกโยนทิ้งออกไปข้างบ้าน
การจับกุมเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่รับแจ้งจาก ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ถูก ศรีสุวรรณ จรรยา พร้อมพวก คือ ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก ประธานกลุ่มรวมใจรักชาติ หนึ่งในคณะทำงานเขตราชการที่ 11 ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ห้วหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วย พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ หรือ การ์ตูน อดีตผู้สมัคร สส.อุตรดิตถ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมกันข่มขู่เรียกเงิน 3 ล้านบาท ก่อนเจรจาต่อรองเหลือ 1,500,000 บาท เพื่อแลกกับการยุติเรื่องร้องเรียนโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการปลูกข้าวและโครงการปรับปรุงการผลิตสำหรับผู้ปลูกข้าว โดยอ้างว่า พบข้อพิรุธที่ส่อไปในทางทุจริต
ศรีสุวรรณ จรรยา
ที่ทำเนียบรัฐบาล มีรายงานว่า เจ๋ง ดอกจิก เดินทางเข้ามาที่ตึกบัญชาการ 1 ตั้งแต่ช่วงสายเพื่อพบกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ต่อมาช่วงเย็น ตำรวจเข้าควบคุมตัวยศวริศและพิมณัฏฐาเพื่อส่งตัวไปดำเนินคดี
ยศวริศบอกว่า ยังไม่ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่รู้เรื่องอะไร เพิ่งรู้เรื่องจากตำรวจ “ผมมีหน้าที่ประสานให้คุณศรีสุวรรณเฉยๆ”
พิมณัฏฐาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงคำสั่งของพีระพันธุ์แต่งตั้งเป็นคณะทำงานเขตราชการที่ 11 เพิ่มเติม ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 หรือวันเดียวกับที่ถูกจับกุม เมื่อมีผู้สอบถามถึงเรื่องอธิบดีกรมการข้าว การ์ตูนตอบกลับว่า “กำลังสู้คดีกันค่ะ” ก่อนโพสต์นี้จะถูกลบในเวลาต่อมา
ประเด็นหลักในคดีนี้ มุ่งไปสู่การเสาะหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ส่วนประเด็นรองคือมีผู้สงสัยว่า ผู้ร้องเรียน เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตในกรมการข้าวด้วยหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีความมัวหมอง ผู้ต้องหาคงไม่พบช่องทางข่มขู่เรียกเงินเพื่อปิดปาก
ช่วงเย็นวันเดียวกัน 26 มกราคม พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ผู้ร้องเรียน ใช้เวลารวบรวมหลักฐาน 4 เดือน จนนำมาสู่แผนการจับกุมส่วนพฤติการณ์ของศรีสุวรรณและพวก ที่ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังเตรียมเปิดโปงการทุจริตในกรมการข้าว จากนั้นก็ได้ติดต่อณัฏฐกิตติ์ พร้อมยื่นข้อเสนอเรียกเงิน 3 ล้านบาท แลกกับการยุติการร้องเรียน แม้ณัฏฐกิตติ์จะมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด แต่ศรีสุวรรณและพวกก็จะยื่นเรื่องร้องเรียน ณัฏฐกิตติ์จึงต่อรองเหลือจ่ายเงิน 1,500,000 บาท โดยจ่ายเงินงวดแรกจำนวน 140,000 บาท ก่อนแอบถ่ายคลิปวิดีโอตอนส่งมอบเงินเก็บไว้เป็นหลักฐาน แล้วยื่นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่
หลังตำรวจสอบปากคำเป็นเวลานานเกือบ 9 ชั่วโมง ศรีสุวรรณให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนวางเงินสด 400,000 บาทเพื่อขอประกันตัว โดยหลังได้รับการประกันตัว ศรีสุวรรณยืนยันว่าไม่มีการเรียกรับเงินจากอธิบดีกรมการข้าว ด้านผู้ต้องหาที่เหลือก็ได้รับการประกันตัวด้วยเช่นกัน
ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก
ข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้งสามคนได้รับมีดังนี้
เจ๋ง ดอกจิก หรือ ยศวริศ ชูกล่อม ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ศรีสุวรรณ จรรยา และ พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ ข้อหาเดียวกัน คือสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า หากยศวริศมีความผิดต้องให้ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
“เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เขาไปทำอะไร และทำจริงแค่ไหนเราไม่ทราบ เขาไปเกี่ยวกับคุณศรีสุวรรณ ผมไม่รู้เลย ก็ต้องให้เขาไปว่ากันเอง”
พีระพันธุ์ระบุว่ายศวริศไม่ได้เป็นคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2566
เป็นที่สังเกตว่า พีระพันธุ์ได้แต่โยนเรื่องให้พ้นตัว โดยไม่มีท่าทีแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ประเด็นว่า ยศวริศเป็นคณะทำงานตรวจราชการที่ 11 หรือไม่ ในวันที่กระทำความผิด ถือว่ามีความสำคัญ เพราะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าข่ายทำผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีโทษสูงสุด คือจำคุกตลอดชีวิต แค่ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์ ซึ่งมีโทษเบากว่า
ช่วงแรกหลังการจับกุม ธัญญรัตน์ ไชยศิริคุณากร ภรรยา ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ เป็นผู้ออกมาให้ข่าว โดยบอกว่า ตั้งแต่สามีเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมการข้าว ก็ถูกกลุ่มผู้ต้องหาร้องเรียนมาโดยตลอด ทั้งที่เคยชี้แจงไปแล้วว่าเรื่องที่ร้องเรียนนั้นไม่เป็นความจริงและสามารถตรวจสอบได้
ในเวลาเดียวกัน มีการเปิดบทสนทนาจากคลิปเสียง คล้ายเสียงของเจ๋ง เรียกเงินจาก ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว
นาย จ. : สวัสดีครับคุณนายครับ
ภรรยา อธิบดีกรมการข้าว : สวัสดีค่ะนาย เราจะทำกันยังไงต่อไป
นาย จ. : ผมเห็นแล้วว่าเรื่องนี้จะต้องล้างคราบมัวหมองเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกับอธิบดี
ภรรยาอธิบดี : นายคะ เอ่อ… หลังปีใหม่ไม่ได้หรือ
นาย จ. : คืออย่างนี้ เมื่อกี้ผมก็คุยกับเขาว่าเอาไปดูแล ไปเที่ยวปีใหม่จะได้สบายอกสบายใจ มันจะได้ลืมเรื่องนี้เสีย
ภรรยาอธิบดี : 1.5 คือกิโลครึ่งใช่ไหม
นาย จ. : ใช่ๆ
ภรรยาอธิบดี : โอ้โห ลดแค่ครึ่งโล
นาย จ. : เอาน่า ช่วยกันไปช่วยกันมา ดีแล้วล่ะ ผมก็เมื่อกี้คุยกันไปแล้ว จัดการให้เขาจะได้จบๆ เรื่องนะคุณนาย
ภรรยาอธิบดี : เดี๋ยวให้หนูปรึกษากันก่อนได้ไหมคะ ว่าเขาจะสรุปยังไง
นอกจากนี้ยังพบว่ามีคลิปเสียงบางไฟล์สามารถบันทึกเสียงบทสนทนาของนาย จ. มีการพูดกล่าวอ้างถึงบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นนักการเมืองระดับสูง ในลักษณะว่าเงินที่ได้เหล่านี้จะนำไปดูแลผู้ใหญ่
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.พรรคก้าวไกล คือตัวละครอีกคนในคดีตบทรัพย์ถูกเอ่ยชื่อในคลิปเสียงสนทนา ในทำนองว่าจะเป็นผู้เคลียร์ให้
ทำให้ ณัฐพงษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“ข้อเท็จจริง คือ ศรีสุวรรณ จรรยา และยศวริศ ชูกล่อม มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เรื่องการขอให้ตรวจสอบการใช้งบกรมฝนหลวง และการบินเกษตร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีเรียกตบทรัพย์จากอธิบดีกรมการข้าว เรื่องของกรมฝนหลวงฯ ยังไม่ถูกบรรจุเป็นวาระพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบหามูลเหตุข้อเท็จจริง”
ณัฐพงษ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะยื่นหนังสือร้องเรียน ยศวริศได้โทรศัพท์หาเพื่อขอให้ลงไปรับหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งณัฐพงษ์ได้ตอบปฏิเสธไป เนื่องจากติดภารกิจ และมีความพยายามอย่างยิ่งที่ต้องการให้กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกลลงไปรับหนังสือร้องเรียน
ณัฐพงษ์ปฏิเสธการกล่าวอ้างว่ามีบุคคลสามารถเคลียร์กับตนเองได้ สามารถขอให้หยุดเรื่องในคณะกรรมาธิการได้ และยืนยันว่าไม่มีเกี่ยวข้องกับคดีการเรียกตบทรัพย์ในครั้งนี้
ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว
ตัวละครต่อมาเป็นผู้ถูกพาดพิงคือ นายหมู ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกระบุว่า พาอธิบดีกรมการข้าวไปพบกับ ศรีสุวรรณ จรรยา
ทำให้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ ต้องออกมาชี้แจงเป็นครั้งแรก โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ตน ภรรยา และ ‘ที่ปรึกษาหมู’ ได้เดินทางไปที่บ้านของศรีสุวรรณ โดยให้ที่ปรึกษาหมูไปเป็นพยาน แต่ไม่ได้ไปเคลียร์เรื่องการจ่ายเงิน แต่ไปถามว่า เพราะเหตุใดจึงร้องเรียนตนเอง หลังจากนั้น ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ด้วยความแค้นและเจ็บใจ จึงวางแผนกับภรรยา โดยไม่ให้ทีมงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดือดร้อน และรวบรวมข้อมูลส่งไปที่ บก.ปปป.
ส่วนทีมงานและที่ปรึกษารัฐมนตรีรู้เรื่องภายหลังการจับกุม โดยวันนั้นได้โทรศัพท์ไปขอโทษรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีข้าราชการคนหนึ่งและครอบครัว
อธิบดีกรมการข้าวระบุอีกว่า เมื่อฝ่ายตรงข้ามนัดดื่มกาแฟ จึงสั่งลูกน้องติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งกรมฯ โดยยืนยันว่า “ตั้งใจล่อซื้อ” ส่วนวงเงินนั้นมีการต่อรองตามที่เป็นข่าว และขอยืนยันว่าไปเจอแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่รู้ เพราะให้ภรรยาไปคุย
ตัวละครคนต่อมาที่ถูกพาดพิง คือ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้เข้าไปหาณัฏฐกิตติ์ระหว่างให้สัมภาษณ์
ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวว่า ตั้งแต่มีการร้องเรียนโครงการได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กระทั่งได้ข้อสรุปว่าไม่ผิด ส่วนกรณีอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่ถูกร้องเรียน ร้อยเอกธรรมนัสได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ทราบเรื่องที่มีการเรียกเงิน 100 ล้านบาทตามที่เป็นข่าว
การพาดพิงถึงอดีตนักการเมือง ป. ร้อยเอกธรรมนัส ระบุว่า ไม่อยากให้ไปพาดพิงถึง สิ่งที่ผ่านมาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์
ผู้ถูกพาดพิงคนต่อมาเป็นนักการเมืองเช่นกัน วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข่าวพาดพิงถึงอดีตรัฐมนตรี ป. อาจหมายถึง ประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาว่า ข่าวที่ออกมามีอักษรย่อมากมาย แต่ถ้าจะให้ชัดเจนที่สุด ก็ต้องฟังจากปากเจ้าตัว
“เท่าที่ผมได้พูดคุยกันมา ประภัตรยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” วราวุธกล่าว
ความคืบหน้าทางคดี เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า จะเชิญ ‘นายหมู’ มาให้ปากคำในฐานะเป็นพยาน ส่วนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ตัวย่อ ธ. ที่มีข่าวว่าถูกตบทรัพย์อยู่ระหว่างประสานเข้าให้ข้อมูลด้วย ด้านพิมณัฏฐา ผู้ต้องหา ต้องถูกแจ้งความเพิ่มเติมฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับผลประโยชน์ หลังพบการแต่งตั้งพิมณัฏฐาเป็นคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ของพีระพันธ์ุ
วันต่อมา 1 กุมภาพันธ์ ตำรวจและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. เข้าจับกุม เอกลักษณ์ วารีชล หรือ ‘เอก ปากน้ำ’ ที่บ้านพัก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ บุคคลนี้ถือเป็นตัวละครในส่วนของผู้ต้องหา เป็นคนกลางประสานงานขบวนการรีดทรัพย์ของศรีสุวรรณกับพวก
ตำรวจให้ข้อมูลว่า เอกลักษณ์สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ และสามารถควบคุมนายศรีสุวรรณได้ เพราะเป็นคนมีข้อมูลการทุจริต การตรวจสอบหน่วยงานรัฐต่างๆ เป็นจำนวนมาก
วันเดียวกัน 1 กุมภาพันธ์ เจ๋ง ดอกจิก - ยศวริศ ชูกล่อม แถลงข่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียกทรัพย์ โดยตนเองและพิมณัฏฐาถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้
เจ๋ง ดอกจิก เล่าว่า เมื่อไปถึงกรมการข้าว อธิบดีกรมการข้าวลงมารับที่หน้าตึก และพาไปที่ห้องพัก อธิบดีบอกว่า “พี่ช่วยผมหน่อย ผมไม่ไหว พี่ช่วยเจรจาผมหน่อย ผมบอกไม่ต้องห่วง วันนี้มาเพื่อช่วย เพราะเพื่อนผมฝากไว้” อธิบดีมากราบที่ตักเพื่อขอบคุณที่มาช่วยดูแล อธิบดีให้ประสานกับภรรยา ยศวริศจึงบอกให้ภรรยาอธิบดีให้ติดต่อกับพิมณัฏฐา เลขานุการ
ยศวริศเล่าอีกว่า วันที่ 18 หรือ 19 ธันวาคม 2566 ได้ไปหาธรรมนัสที่ทำเนียบฯ ถามว่า “เรื่องพี่ศรีจะเอายังไง” ซึ่งธรรมนัสถามกลับว่า “พี่ศรีจะเอายังไง”
“พอผมบอกไม่รู้ ธรรมนัสจึงบอกพี่เจ๋งไปช่วยจัดการให้หน่อย เลยเป็นที่มาที่เข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องนี้”
ยศวริศย้ำว่า ตนเองเป็นเหยื่อการเมือง ไม่รู้ใครเป็นเป้าหมาย ยังยืนยันไม่ใช่ขบวนการตบทรัพย์
คำบอกเล่าของยศวริศ ทำให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นตัวละครอีกคนที่เพิ่มเข้ามาในฐานะผู้ถูกพาดพิง
วันต่อมา 2 กุมภาพันธ์ 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวถึงเรื่องที่ถูก เจ๋ง ดอกจิก พาดพิงว่า ไม่ขอพูดถึงคนคนนี้แล้ว และบอกว่าเจ๋งโทรมา จึงรับสาย และยืนยันไม่เคยเจอเจ๋งในทำเนียบรัฐบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า เจอกันขณะกำลังแถลงข่าวอยู่ บริเวณหน้าประตู จึงถามว่า มาทำอะไร เจ๋งตอบว่า มาติดตามเรื่องร้องเรียน จึงบอกว่าเรื่องนี้ขอไม่ยุ่ง ให้ไปคุยกันเอง เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่ตรงนี้
“ผมต้องใช้คนแบบนี้ไปเคลียร์หรือ เขามีหน้าที่ในกระทรวงเกษตรเหรอ และอยู่ในฝ่ายตรวจสอบหรือไม่ ที่ต้องไปเคลียร์คนแบบนี้ เพียงแต่ผมตัดความรำคาญว่าอย่ามายุ่งกับผม” ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว
คดีนี้มีผู้ต้องหาเบื้องต้น 4 คน ได้แก่ ศรีสุวรรณ จรรยา, ยศวริศ ชูกล่อม, พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ และ เอกลักษณ์ วารีชล โดยตำรวจอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการเพิ่มเติม
ผู้เสียหายมี 2 คน คือ ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว และ ธัญญรัตน์ ไชยศิริคุณากร ภรรยา โดยหลังจากนี้จะมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นอีกไหมยังไม่แน่ชัด
ผู้เกี่ยวข้องมี 5 คน ได้แก่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร นายหมู ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประภัตร โพธสุธน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จากนี้ต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนต่อว่า ข้อเท็จจริงจะเป็นตามที่ตั้งธงไว้หรือไม่ คือศรีสุวรรณและพวก ไปดำเนินการตบทรัพย์อธิบดีกรมการค้าข้าว แต่อธิบดีสู้กลับ ส่วนบุคคลที่ถูกพาดพิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการด้วย หรือความจริงจะเป็นอีกด้านตามที่เจ๋งบอก คือตนและการ์ตูนได้เข้าไปช่วยเหลืออธิบดีกรมการข้าวเพื่อเคลียร์เรื่องให้ โดยมีร้อยเอกธรรมนัสขอให้ไปช่วย
ส่วนพีระพันธุ์คงต้องส่งเอกสารยืนยันสถานะของเจ๋งและการ์ตูนว่า พ้นจากตำแหน่งคณะทำงานเขตราชการที่ 11 เมื่อไหร่
ด้านโครงการที่ถูกร้องเรียนของกรมการข้าว และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ สานต่อเพื่อตรวจสอบการทุจริตให้รอบด้าน
© ไทยนิวส์เอ็กซ์เพรส